คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2484

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าอาวาสรับเงินผลประโยชน์ของวัดไปเพื่อใช้ซ่อมแซมกุฏิแล้วยักยอกเงินนั้นคงมีผิดฐานยักยอกตามมาตรา 114 ไม่ใช่มาตรา 319
กรมการอำเภอที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงธรรมการให้เป็นผู้ดูแลรักษาเงินผลประโยชน์ของวัดนั้น เมื่อมีผู้ยักยอกเงินนั้น กรมการย่อมเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจร้องทุกข์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้รับมอบเงินผลประโยชน์ของวัดไปจากกรมการอำเภอเพื่อซ่อมแซมกุฏิ แล้วยักยอกไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว กับต่อมาได้ทำใบสำคัญปลอมชื่อผู้รับเงินยื่นต่อกรมการอำเภอ
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยได้รับมอบเงินไปโดยหน้าที่แล้วยักยอกเงิน มีผิดตามกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๓๑๙ ข้อ ๓ และแสดงรายการเท็จปลอมชื่อผู้รับเงินยื่นต่อกรมการอำเภอโดยรู้ว่าเป็นหนังสือสำคัญปลอมผิดตาม มาตรา ๒๒๔ อีกกะทงหนึ่ง แต่ให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา ๓๑๙ ซึ่งเป็นกะทงหนักมีกำหนด ๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่มีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า จำเลยเป็นพระสงฆ์ ไม่มีหน้าที่รับจ่ายเงิน ตามข้อบังคับเรื่องเงินกัลปนา ร.ศ.๑๒ ฉะนั้นจำเลยควรมีผิดเพียงฐานยักยอกธรรมดาตามมาตรา ๓๑๔ แต่ความผิดตามมาตรานี้ เป็นความผิดส่วนตัว จะต้องมีการร้องทุกข์โดยชอบ กรมการอำเภอไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายในคดีนี้ การร้องทุกข์จึงไม่ชอบ ไม่ควรรับพิจารณาและลงโทษฐานยักยอก ส่วนความผิดฐานปลอมหนังสือ ศาลลงโทษได้
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า การจ่ายเงินกัลปนาซึ่งเป็นเงินผลประโยชน์ของวัดนั้น ตามข้อบังคับเรื่องเงินกัลปนาข้อ ๓ (๔) เจ้าอาวาสเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น ส่วน พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์มาตรา ๑๓(๑) นั้นหมายถึงว่ามีหน้าที่ทะนุบำรุงวัดภายในขอบเขตต์ตามข้อบังคับของกรมกัลปนา เมื่อจำเลยไม่มีหน้าที่ดังกล่าวนั้น ก็ไม่มีผิดตามมาตรา ๓๑๔ สำหรับปัญหาเรื่องร้องทุกข์เห็นว่านายอำเภอได้รับมอบหมายจากกระทรวงธรรมการให้เป็นผู้ดูแลรักษาเงินผลประโยชน์ของวัด เมื่อมีผู้ยักยอกเงินนั้นเช่นนี้ ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีอำนาจร้องทุกข์ได้ พิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๑๔ นอกนั้นยืน

Share