แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2490 ออกใช้และดำเนินการตามความในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2482 พระราชบัญญัติทางหลวงนี้มีมาตรา 44 บัญญัติว่า เมื่อกำหนดเวลาที่เจ้าหน้าที่เวนคืนจะเข้าครอบครองตามที่กำหนดไว้ได้ล่วงพ้นไปแล้ว ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนมีอำนาจเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ แม้จะยังไม่ได้ชำระค่าทำขวัญ ฉะนั้น จำเลยจะมีสิทธิและได้รับค่าทำขวัญแล้วหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จะยกขึ้นล้างเพิ่อขัดขวางไม่ยอมออกจากที่ที่ถูกเวนคืนได้ เมื่อจำเลยขัดขวางไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเข้าครอบครอบทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนนั้น ก็ย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 มาตรา 33
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยครอบครองห้องเลขที่ ๒๖-๒๘ ถนนตรีเพ็ชรซึ่งถูกเวนคืนเพื่อขยายทางหลวงในเขตเทศบาลเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๐๔ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๔ จำเลยได้ทราบแล้วและได้ขัดขวางไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าครอบครอง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุก ๑ เดือนปรับ ๔๐๐ บาท ให้รอการลงโทษไว้ ๑ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๘,๑๐ เจ้าหน้าที่จะเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นได้เมื่อได้ใช้หรือวางเงินค่าทดแทนแล้วและจำเลยมีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามมาตรา ๑๑ เมื่อเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ใช้หรือวางเงินให้แก่จำเลย เจ้าหน้าที่จึงยังไม่มีสิทธิที่จะเข้าครอบครองทรัพย์สินนี้ได้ ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.๒๔๘๗ การวินิจฉัยก็จำต้องใช้พระราชบัญญัตินี้ทั้งฉบับ จะเจาะจงเอาแต่ข้อเสียหายแก่จำเลยมาลงโทษไม่ได้
ศาลฎีกาเห็นว่า การเวนคืนรายนี้ได้กระทำโดยพระราชบัญญัติเวรคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งออกใช้และดำเนินการตามความใน พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๔๘๒ ซึ่งมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวงฯ นี้บัญญัติให้นำกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้ได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติทางหลวงฯ เป็นอย่างอื่น ในส่วนที่เกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่จะเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนนั้น พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๔๔ บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่า เมื่อกำหนดเวลาที่เจ้าหน้าที่เวนคืนจะเข้าครอบครองตามที่กำหนดไว้ได้ล่วงพ้นไปแล้ว ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนมีอำนาจเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ แม้จะยังชำระค่าทำขวัญ ฉะนั้น จำเลยจะมีสิทธิและได้รับค่าทำขวัญแล้วหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อขัดขวางไม่ยอกออกจากที่ที่ถูกเวนคืนได้ การที่จำเลยไม่ยอมออกจากที่ที่ถูกเวนคืนเช่นนี้ ย่อมเป็นการขัดขวางไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนนั้นชัด ๆ
ปัญหาต่อไปมีว่า จะปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๔๙๗ ตามที่โจทก์ขอได้หรือไม่ มาตรา ๓๓ ที่กล่าวนั้นบัญญัติว่า “ผู้ใดขัดขวางไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าครอบครองทรัพย์สินตามพระราชบัญญัตินี้มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาทหรือจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือทั้งบรับทั้งจำ” และมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๔๘๒ บัญญัติว่า “การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ตามความในมาตราก่อน ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในส่วนนี้” เมื่อกฎหมายมีอยู่ดังนี้ การที่จำเลยขัดขวางเจ้าหน้าที่เวนคืนไม่ยอมให้เข้าครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเวนคืน ก็ชอบที่จะปรับลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๓
อาจมีข้อโต้แย้งขึ้นว่า จำเลยไม่ได้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าครอบครองทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๔๙๗ จะปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๓ นั้นไม่ได้ เพราะคำว่า “ตามพระราชบัญญัตินี้” ในมาตรา ๓๓ นั้น ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ตามพระราชบัญญัติอื่นใดอีกเลย แต่ศาลฎีกาเห็นว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามความในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๔๘๒ บังคับให้นำบทกฎหมายเรื่องการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป อันได้แก่บทบัญญัติใด ๆ ใน พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๔๙๗ มาใช้บังคับด้วย เว้นเสียแต่จะมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๔๘๒ ดังที่บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งแล้วในมาตรา ๘๒ นั้น และการขัดขวางเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าครอบคองทรัพย์สินที่ถูกเวนจะมีความผิดประการใด มิได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๔๘๒ เลย ดังนี้ ชอบที่จะนำมาตรา ๓๓ มาใช้บังคับแต่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินการตามความในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๔๘๒ ได้ด้วย โดยเมื่อนำมาใช้บังคับแล้ว คำว่า “ตามพระราชบัญญัตินี้” ในมาตรา ๓๓ นั้น ก็ต้องมีนัยว่า ตามพระราชบัญญัติทางหลวงฯอยู่ในตัว
พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฎีกาจำเลย