คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 109/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลว่าที่ดินโฉนดที่ 259 มีชื่อผู้ร้อง นายทองสามีผู้ร้องและนางชด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เมื่อ 20 ปีเศษมานี้ นางชดได้สละกรรมสิทธิ์ส่วนของตนโดยอพยพไปอยู่จังหวัดสระบุรีและมิได้กลับเข้าครอบครองที่ดินแปลงนี้อีก และวันที่ 20 ตุลาคม 2493 นายทองสามีผู้ร้องถึงแก่กรรม ผู้ร้องจึงได้ครอบครองที่แปลงนี้ทั้งหมดแต่ผู้เดียวโดยสงบเปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของนางชดและส่วนของนายทองสามีผู้ร้อง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินส่วนของนางชดและของนายทองเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง คำร้องขอเช่นว่านี้เป็นการอ้างว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินด้วยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1382 ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลไต่สวนแสดงว่าตนมีกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 78 และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 188 (1) ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องร้องว่าที่ดินโฉนดที่ ๒๕๙ เดิมมีชื่อผู้ร้อง นางชด และนายผาด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๔๙๑ นางเล็กได้ขอรับมรดกเฉพาะส่วนของนายผาด และในวันเดียวกันนั้นเอง นางเล็กได้ขายกรรมสิทธิ์ของตนให้แก่นายทองสามีผู้ร้อง ที่แปลงนี้จึงมีชื่อผู้ร้อง นายทองสามีผู้ร้อง และนางชด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เมื่อ ๒๐ ปีเศษมานี้ นางชดได้สละกรรมสิทธิ์ส่วนของตนโดยอพยพไปอยู่จังหวัดสระบุรีและมิได้กลับเข้ามาครอบครองที่ดินแปลงนี้อีก วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๙๓ นายทองสามีผู้ร้องถึงแก่กรรม ผู้ร้องจึงได้ครอบครองที่แปลงนี้ทั้งหมดแต่ผู้เดียวโดยสงบด้วยเปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของนางชดและส่วนของนายทองสามีผู้ร้องด้วย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินส่วนของนางชดและนายทอง เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ให้เจ้าพนักงานที่ดินถอนชื่อนางชด นายทอง ออกจากโฉนดที่ดินดังกล่าว และลงชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว
ศาลแพ่งสั่งว่าไม่ใช่เรื่องที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิในทางศาลโดยการร้องขอ เพราะตัวนางชดผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมยังมีตัวอยู่และนายทองเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมอีกคนหนึ่งก็เป็นสามีผู้ร้อง จึงไม่รับคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ไต่สวนคำร้องขอและสั่งเจ้าพนักงานที่ดินให้ถอนชื่อบุคคล ๒ คน คือนางชด และนายทองออกจากโฉนด แล้วลงชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว สำหรับนายทองนั้น แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเป็นสามีผู้ร้องและว่าถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๙๓ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังนายทองตายกว่า ๑๐ ปี ข้อความในคำร้องมีใจความว่า ผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินส่วนของนางชดและส่วนของนายทองมาโดยความสงบและด้วยเปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมา คือ ส่วนของนางชดประมาณ ๒๐ ปี ส่วนของนายทองเกินกว่า ๑๐ ปี ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของนายทองนั้น ผู้ร้องมิได้อ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในฐานะเป็นทายาทผู้รับมรดก แต่ผู้ร้องอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองซึ่งหมายความว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ นั้นเอง
วิธีการจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๘๒ นั้น ผู้ได้กรรมสิทธิ์จะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๗๘ บัญญัติว่า ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงและกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการไว้ในข้อ ๘ (๑) ว่า ผู้ได้มาต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอันถึงที่สุดแสดงว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวนั้น เมื่อเช่นนี้ ผู้ร้องคดีนี้จึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลไต่สวนแสดงว่าตนมีกรรมสิทธิ์ตามกฎกระทรวงที่กล่าวนั้น และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๘๘(๑) ได้ ฯลฯ
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลแพ่งรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้ไต่สวนต่อไปตามกระบวนความ

Share