คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 881/2472

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การมีกรรมสิทธิเปนเจ้าของหนังสือหมายความว่ามีกรรมสิทธิฉะเพาะรูปร่างและลักษณของข้อความที่เก็บรวบรวมขึ้นเท่านั้นไม่หมายความตลอดไปถึงมีกรรมสิทธิในข้อความที่รวบรวมขึ้นผู้ที่รวบรวมตำราซึ่งมีมาแต่โบราณขึ้นใหม่ถึงจะเหมือนกับของผู้อื่นที่รวบรวมไว้แล้วก็ไม่เป็นการล่วงกรรมสิทธิของผู้ที่ทำไว้ก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยคัดลอกข้อความและรูปภาพตำราพรหมชาติหมอดูของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนแล้วขึ้นพิมพืในสมุดปฏิทินพกจำหน่าย เป็นการผิดสัญญายอมความที่ศาลตัดสินห้ามไว้ในคดีแดงที่ ๗๙/๒๔๗๐ ขอให้ห้ามจำเลยและริบปฏิทินพกและใช้ค่าเสียหาย ๓๐๐๐ บาท จำเลยต่อสู้ว่า ได้รวบรวมขึ้นเองจากต้นฉบับโบราณอันมีอยู่แพร่หลาย
ศาลแพ่งตัดสินว่า ปฏิทินพกที่จำเลยพิมพ์ขึ้นนี้มีคำอธิบายนับวันเดือนปีและรูปภาพอย่างเดียวกับปฏิทินพกพ.ศ.๒๔๗๐ ที่จำเลยทำย่อมไว้ในคดีแดงที่ ๗๙/๒๔๗๐ เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑๐๕๐ บาท และรับสมุดปฏิทินพกที่ยังไม่ได้จำหน่าย ๓๐๐๐ เล่ม
ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์มีกรรมในตำราพรหมชาติที่เก็บรวบรวมขึ้นจากของโบราณได้ตาม พ.ร.บ.แก้ไขกรรมสิทธิหนังสือ พ.ศ.๒๔๕๗ ม.๑๐ แต่การมีกรรมสิทธิได้เช่นนี้ไม่หมายตลอดไปถึงมีกรรมสิทธิในข้อความที่รวบรวมขึ้น มีกรรมสิทธิแต่ฉะเพาะรูปร่างและลักษณของข้อความที่ได้เก็บรวบรวมขึ้นเท่านั้น และใน ม.๑๐ ยังไขความไว้อีกว่า ผู้ที่เก็บรวบรวมเรื่องราวทีหลังจะทำก็ได้ แต่ห้ามไม่ให้คัดลอกจากที่เขารวบรวมไว้ ต้องดำเนิรเค้าความในเรื่องที่ตนได้เก็บรวบรวมขึ้นใหม่ได้ ถึงจะเหมือนกับที่ผู้รวบรวมไว้แล้วก็ไม่เป็นการล่วงกรรมสิทธิของผู้ที่ทำไว้ก่อน นอกจากจะคัดลอกมาโดยตรง สมุดปฏิทินพกของจำเลยที่มีตำราหมดดูนี้จำเลยหาได้คัดลอกจากสมุดตำราของโจทก์ไม่จำเลยได้เก็บรวบรวมขึ้นเอง จึงให้ยกฟ้องโจทก์เสีย

Share