คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987/2477

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าวัดถุอันหนึ่งจะมีลักษณเครื่องหมายคล้ายคลึงทำให้สามัญชนหลอว่าเป็นวัดถุอีกอันหนึ่งได้หรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ปัญหาที่ว่าการกระทำอันใดจะได้กระทำลงโดยเจตนาหรือ+นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง พะยานวัดถุ พะยานวัดถุย่อมเป็นเครื่องประกอบกับคำพะยานหลักฐานเพื่อเป็นทางวินิจฉัยว่าวัดถุจะมีลักษณคล้ายคลึงกันพอที่จะทำให้สามัญชนหลงว่าอันหนึ่งเป็นอีกอันหนึ่งได้หรือไม่ ในเรื่องการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าจะพิเคราะห์แต่เครื่องหมายการค้าขายอย่างเดียวนั้นยังไม่พอ จำต้องพิเคราะห์พร้อมทั้งตัววัดถุด้วย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าการที่เจ้าพนักงานได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าขายอันได้กระทำขึ้นเพื่อเลียนแบบเครื่องหมายการค้าขายของคนอื่นแล้วนั้นไม่เป็นเหตุที่จะป้องกันความรับผิดของผู้ที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าขายนั้นได้

ย่อยาว

ได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าของสะบู่กรดอันมีเครื่องหมายการค้าขายเป็นรูปธงอังกฤษกับมีคำว่า”ทรูบลู” ที่ก้อนสะบู่จำหน่ายในประเทศสยามมา ๓๐ ปีกว่าแล้ว จำเลยได้บังอาจทำสะบู่กรดขึ้นจำหน่ายในท้องตลาดมีเครื่องหมายการค้าขายเป็นรูปธงคล้ายคลึงกับธงชาติจีน แต่ขนาดแห่งก้อนสะบู่และขนาดแห่งรูปธงบนก้อนสะบู่ทั้ง ๒ ฝ่ายไล่เลี่ยกันโจทก์จึงฟ้องว่าจำเลยทำสะบู่นั้นออกจำหน่ายโดยทุจจริตลวงให้ผู้ซื้อหลงว่าสะบู่ของจำเลยเป็นสะบู่ของโจทก์ ขอให้ลงโทษจำเลยกฎหมายลักษณอาชญามาตรา ๒๓๘-๒๓๙
ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามกฎหมายอาชญามาตรา ๒๓๗ โดยเห็นว่า (๑) ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าสะบู่ของจำเลยมีลักษณเครื่องหมายคล้ายคลึงพอที่จะทำให้สามัญชนหลงได้ว่าเป็นสะบู่ของโจทก์เป็นข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาไม่ได้ (๒) ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเมื่อดูสะบู่ของกลางแล้วย่อมเห็นได้ว่าสะบู่ของจำเลยมีลักษณเครื่องหมายการค้าขายคล้ายคลึงพอที่จะทำให้สามัญชนหลงได้ว่าเป็นสะบู่ของโจทก์นั้นเป็นคำชี้ขาดในข้อเท็จจริงและจำเลยจะคัดค้านว่าศาลชี้ขาดโดยไม่มีคำพะยานหลักฐานนั้นไม่ได้ เพราะที่สะบู่ของกลางเป็นวัดถุพะยานอยู่แล้ว (๓) การกระทำโดยเจตนาหรือโดยไม่เจตนานั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ฉะนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยมีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าขายของโจทก์แล้วเช่นนี้ จำเลยจะฎีกาว่าศาลอุทธรณ์แปลกฎหมายในเรื่องการกระทำโดยเจตนาผิดจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณอาชญาไม่ได้ (๔) กรรมการเห็นว่าในเรื่องการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าขายจะพิเคราะห์แต่เครื่องหมายการค้าขายอย่างเดียวนั้นยังไม่พอ จำต้องพิจารณาพร้อมทั้งตัวสินค้าด้วยและศาลนี้ก็ต้องฟังตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาในข้อ (๑) (๕)การที่เจ้าพนักงานได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าขายของจำเลยแล้วนั้นไม่เป็นเหตุที่จะป้องกันความผิดของจำเลยได้

Share