แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เคยต้องโทษและพ้นโทษฐานลักทรัพย์มา 2 ครั้งแล้วมาต้องโทษฐานชิงทรัพย์ต้องเพิ่มโทษทวีคูณตามมาตรา 74
จำเลยต้องดทษประหารชีวิตและมีเหตุควรเพิ่มโทษและลดโทษ ถ้าการเพิ่มและลดนั้นไม่เสมอกันแล้วก็ได้แต่ลดโทษอย่างเดียว
ย่อยาว
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทำการชิงทรัพย์และฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องโทษฐานลักทรัพย์จำคุก ๘ เดือน พ้นโทษ พ.ศ.๒๔๓๒ และพ้นโทษฐานลักทรัพย์อีกครั้งหนึ่งอันต้องจำคุก ๕ ปี ๕ เดือน เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๘๒ แล้วจึงได้มากระทำผิดในคดีนี้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๓๐๐,๒๕๐ ข้อ ๕,๖ และ ๗๓ วางโทษประหารชีวิต คำขอของโจทก์เรื่องเพิ่มโทษเป็นอันตกไปเพราะเพิ่มไม่ได้
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยมิได้ทำร้ายผู้ตายด้วย จึงผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้เจ้าทรัพย์ถึงแก่ความตายเท่านั้นจึงพิพากษาแก้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๐๐ ตอน ๓ และลดโทษ ๑ ใน ๔ ตามมาตรา ๕๙ คงจำคุก ๑๕ ปี และให้เพิ่มโทษฐานกักกันอีก ๗ ปี มีผู้พิพากษาหนึ่งมีความเห็นแย้งโดยไม่เห็นพ้องด้วยในข้อที่ศาลอุทธรณ์ไม่เพิ่มโทษและลดโทษให้จำเลย เห็นว่าต้องเพิ่มโทษจำเลยทวีคูณตามมาตรา ๗๔ และควรลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๕๙ แต่ตามมาตรา ๓๖ ห้ามมิให้เพิ่มกำหนดเวลาที่จะต้องจำคุกเกินกว่า ๒๐ ปี จึงควรให้จำคุกจำเลย ๒๐ ปีกับให้เพิ่มโทษกักกันอีก ๗ ปี
โจทก์ จำเลย ฎีกา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น และเห็นว่าต้องวางเกณฑ์เพิ่มโทษจำเลยทวีคูณตามมาตรา ๗๔ โทษของจำเลยถึงประหารชีวิตอยู่แล้ว จึงเพิ่มไม่ได้ แต่คำรับของจำเลยชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่ทางพิจารณาอยู่มาก จึงลดให้ ๑ ใน ๓ ตามาตรา ๕๙ ให้คงลงโทษจำคุก ๒๐ ปีตามมาตรา ๒๕๐ ประกอบด้วยมาตรา ๓๗ เมื้อพ้นโทษแล้วส่งตัวไปกักกันตาม พ.ร.บ.กักกัน ฯ มาตรา ๙ อีก ๕ ปี.