คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 216/2479

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กำหนดอายุความฟ้องร้องจำเลยในคดีอาญานั้นต้องถือตามบทมาตราที่ศาลจะพึงนำมาลงโทษจำเลย หาได้ถือตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้องอ้างขอให้ลงโทษไม่
จำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้เมื่อได้ความว่าคดีขาดอายุความศาลก็ต้องยกฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายตาม ม.254 ถ้าทางพิจารณาได้ความจำเลยทำร้ายร่างกายไม่ถึงบาดเจ็บตาม ม.338(3)
ศาลลงโทษตามมาตรานี้ได้เพราะเป็นความผิดประเภทเดียวกัน

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๗ หาว่า เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์พ.ศ.๒๔๗๖ จำเลยได้สมคบกันทำร้ายร่างกาย ม. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่มีบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษตาม ม.๒๕๔,๑๑๙-๑๒๐
ศาลชั้นต้นฟังว่าการที่จำเลยกับพวกทำร้าย ม.นั้นไม่ถึงบาดเจ็บ แลม.มิได้กระทำการตามหน้าที่ จำเลยมีผิดเพียงมาตรา๓๓๘(๓) ให้ปรับจำเลยคน ๘ บาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโดยฟังว่าจำเลยไม่ได้ทำร้าย ม.
ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จะฟังว่าจำเลยได้ทำร้าย ม.ไม่ถึงบาดเจ็บก็ดี ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าเป็นเวลาในขณะที่ ม.มิได้กระทำการตามหน้าที่ความผิดจึงต้องด้วย ม.๓๓๘(๓) ซึ่งมีกำหนดโทษไม่เกิน ๑ เดือน แลมีอายุความฟ้องร้องเพียง ๑ ปีตาม ม.๗๘ (๔) คดีนี้แม้โจทก์อ้างมาตราอื่นมาในฟ้องศาลก็ลงโทษจำเลยตาม ม.๓๓๘(๓)ได้ เพราะเป็นความผิดประเภทเดียวกัน ส่วนอายุความคดีนี้จะถือตามฟ้องหรือจะถือตามมาตราอันแท้จริงตามที่ศาลจะถึงนำมาปรับคดีนั้น เห็นว่าต้องถือตามบทมาตราที่ศาลจะพึงนำมาลงโทษจำเลย คดีจึงพ้นอายุความที่จะฟ้องร้องขอให้ลงโทษจำเลยได้

Share