คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 791/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำข้อท้ายฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ของหุ้นส่วนที่มีข้อความว่า “ขอได้โปรดแบ่งที่ดินพร้อมด้วยโรงสีและห้องแถว …………. ให้เป็นของโจทก์ 1 ส่วนเป็นเงิน 40,000 บาท โดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาด” นั้น มิได้หมายความว่าโจทก์ต้องการ เงินค่าทรัพย์สินเพียง 40,000 เท่านั้น การตั้งทุนทรัพย์มาเป็นแต่เพียงเพื่อเสียค่าขึ้นศาล ส่วนการแบ่งทรัพย์ ถ้าไม่ตกลงกันต้องประมูลหรือขายทอดตลาด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์รับมรดกจากสามี มีกรรมสิทธิในที่ดินและโรงสีร่วมกับจำเลย ๑ ใน ๓ จำเลยจะเอาส่วนของโจทก์เป็น ของจำเลย โดยไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำการสีข้าวตามที่ตกลงกันไว้ว่า เมื่อจำเลยสีข้าวในโรงสีครบ ๒ ปีแล้วจะให้โจทก์เข้า ทำการสีปีหนึ่งผลัดเปลี่ยนเวียนกันไป จึงขอให้แบ่งที่ดินและโรงสี ห้องแถวซึ่งปลูกในที่ดินรวมราคา ๑๒๐,๐๐๐ บาท ออก เป็น ๓ ส่วน ให้โจทก์หนึ่งส่วนเป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาทโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายด้วย
จำเลยให้การว่า ข้อตกลงเรื่องเวียนกันทำโรงสีระงับไปแล้ว และจำเลยลงทุนซ่อมแซมโรงสีผู้เดียว หากต้องแบ่งหุ้นก็ควร หักค่าซ่อมแซมก่อน และว่ามูลค่าของหุ้นเป็นจำนวนเงินแน่นอนแล้ว การขายทอดตลาดหุ้นจึงไม่จำเป็น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะในข้อค่าเสียหาย ส่วนข้ออื่นยืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้นแก่โจทก์ ๔๐,๐๐๐ บาท ถ้าจำเลยไม่ต้องการแบ่งส่วน ให้นำโรงสีนั้นประมูลหรือขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินกันตามส่วน
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังตามศาลล่างทั้งสองว่า โจทก์ขาดประโยชน์เพราะจำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำการสีข้าวตามวาระของโจทก์ แต่การบังคับคดีตามคำขอท้ายฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทรัพย์สินให้แก่โจทก์ ๔๐,๐๐๐ บาท โดยมิได้ให้ประมูลหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินก่อน ซึ่งโจทก์คัดค้านว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ ประสงค์จะให้จำเลยใช้เงินค่าหุ้น ๔๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น การที่กล่าวในฟ้องว่าทรัพย์สินทั้งหมดมีราคา ๑๒๐,๐๐๐ บาท เป็นส่วนของโจทก์ ๔๐,๐๐๐ บาทก็เป็นเพียงตั้งราคาเพื่อเสียค่าขึ้นศาล จึงมีคำข้อท้ายฟ้องว่า “ขอได้โปรดแบ่งที่ดินพร้อม ด้วยโรงสีและห้องแถว ……………………………. ให้เป็นของโจทก์ ๑ ส่วน เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท โดยวิธีประมูลหรือขาย ทอดตลาด นอกจากนี้ยังปรากฎตามรายงานพิจารณาว่า จำเลยขอเสนอให้เงินโจทก์เป็นค่าหุ้น ๖๐,๐๐๐ บาท แต่โจทก์ว่า ถ้าไม่ได้ ๑๐๐,๐๐๐ บาทไม่ตกลงด้วย ดังนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าโจทก์หาได้ต้องการเงินค่าทรัพย์สินส่วนของโจทก์เพียง ๔๐,๐๐๐ บาทเท่านั้นไม่
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อค่าเสียหายให้เป็นไปตามคำชี้ขาดของศาลชั้นต้น ส่วนการแบ่งทรัพย์สินที่ พิพาท ถ้าไม่ตกลงกันให้ประมูลหรือขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิแบ่งให้โจทก์ ๑ ส่วน จำเลย ๒ ส่วน ถ้าส่วนได้ของโจทก์เกิน ๔๐,๐๐๐ บาทเท่าใด ให้ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลจากโจทก์เพิ่มตามทุนทรัพย์.

Share