คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 499/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญา ฟ้องของโจทก์กล่าวว่าจำเลยสมคบกันจำเลยอีกคนหนึ่งซึ่งถูกฟ้องศาลไปก่อนแล้ว และปรากฏว่าจำเลยในคดีก่อนถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ส่วนจำเลยในคดีหลังถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษ จำเลยที่ถูกศาลลงโทษฎีกา และขอให้ศาลเรียกสำนวนคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยอีกคนหนึ่งมาประกอบการวินิจฉัย โดยอ้างว่าพยานโจทก์ทั้ง 2 คดี เป็นพยานชุดเดียวกัน เบิกความ 2 ครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีเกี่ยวกับตัวจำเลยต่างกัน ดังนี้ ศาลฎีกาย่อมอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 208, 225, 228 เรียกสำนวนคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปล่อยจำเลยมาประกอบการวินิจฉัยได้ และเมื่อเห็นว่าคำพยานโจทก์ที่เบิกความ 2 ครั้ง ขัดแย้งกัน ศาลฎีกาก็ตัดสินยกฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าคน จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๔๗, ๘๐, ๘๓ ฐานพยายามฆ่า วางโทษจำคุกคนละ ๑๐ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าคน แต่ศาลชั้นต้นวางบทลงโทษผิดพลาดไป จึงแก้ว่าจำเลยมีผิดตามมาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ นอกนั้นยืน
จำเลยฎีกาวา กรณีโจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกับนายเพิ่มจำเลยในคดีดำที่ ๒๐๗/๒๕๐๐ แต่คดีดำที่ ๒๐๗/๒๕๐๐ ได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จึงจับจำเลยและฟ้องคดีนี้ซึ่งมีพยานชุดเดียวกัน เหตุเกิดวาระเดียวกัน กรรมเดียวกัน ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ปล่อยนายเพิ่มไปแล้ว คดีนี้พยานโจทก์ชุดเดียวกับพยานโจทก์คดีนายเพิ่มเป็นจำเลย แต่เบิกความ ๒ ครั้ง จึงขอให้ศาลฎีกาเรียกสำนวนคดีดำที่ ๒๐๗/๒๕๐๐ มาประกอบการวินิจฉัย
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยในคดีนี้ได้บังอาจสมคบกันนายเพิ่มจำเลยในคดีดำที่ ๒๐๗/๒๕๐๐ จึงเห็นสมควรจะได้ตรวจพยานหลักฐานโจทก์ในคดีดำที่ ๒๐๗/๒๕๐๐ ตามที่จำเลยร้องขอ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. ๒๐๘, ๒๒๕, ๒๒๘ ศาลฎีกาจึงเรียกสำนวนดังกล่าวมาตรวจดู คดีของโจทก์มีเหตุอันควรสงสัย คงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยพ้นข้อหา

Share