แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดนั้น อาจเกิดจากบุคคลหลายคนทำการละเมิดให้เกิดความเสียหายก็ได้ เช่นในคดีขับรถยนต์กันโดยประมาท และแต่ละฝ่ายอาจรับผิดในความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันได้ สุดแต่ศาลจะวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
จำเลยที่ 2 เป็นคนขับรถของนายจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 เป็นคนขับรถของนายจ้างจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 ที่ 4 ขับรถชนกันโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายตาย ผู้ตายเป็นหัวหน้าครอบครัว ดังนี้เมื่อโจทก์ต่างเป็นผู้อยู่ในความอุปการะของผู้ตาย จึงต่างเป็นผู้มีประโยชน์ร่วมกันในคดี ย่อมเป็นโจทก์ฟ้องร่วมกันได้ ตาม ม. +9 วิ.แพ่ง ฝ่ายจำเลยแม้มิได้มีประโยชน์ร่วมกันก็ต้องรับผิดในความเสียหายอันเดียวกัน จำเลยทั้ง 4 จึงถูกฟ้องร่วมกันได้
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่านายบุญทา บุษแก้ว สามีโดยชอบธรรมด้วย ก.ม. ของโจทก์ที่ ๑ เกิดบุตรด้วยกันที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะคือโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งนายบุญทาต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา
จำเลยที่ ๑ เป็นนายจ้างจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ เป็นนายจ้างจำเลยที่ ๔ ในทางการจ้างขับรถยนต์รับคนโดยสารและรับขนของซึ่งจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ นายจ้างจะต้องรับผิดชอบร่วมกันกับจำเลยที่ ๒,๔ ตามกฎหมาย จำเลยที่๒,๔ ขับรถโดยมิได้ระมัดระวังอันเป็นวิสัยของปุถุชนในขณะที่จะสวนทางกันเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันที่จำเลยทั้งสองขับมาชนกันอย่างแรง ไม้กั้นข้างรถยนต์หักแทงถูกนายบุญทา อาศัยนั่งมาในรถคันที่จำเลยที่ ๒ ขับมา ถึงแก่ความตาย
เนื่องจากการละเมิดของจำเลยที่ ๒,๔ ในทางการจ้างของจำเลยที่ ๑,๓ โจทก์ขอให้จำเลยทั้ง ๔ ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนคือค่าปลงศพ ค่าอุปการะเลี้ยงดู ฯ รวมเป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑,๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ประมาทเหตุเกิดเพราะถูกรถอีกคันหนึ่งชนเอา จำเลยไม่ต้องรับผิด โจทก์กับนายบุญทามิได้เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วย ก.ม. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายเกิดจากการคาดคะเนและสูงเกินควร จำเลยที่ ๑,๓ ต่างเป็นเจ้าของรถของตน จำเลยที่ ๒,๔ ต่างเป็นลูกจ้างของแต่ละคนแยกกัน ไม่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓,๔ ให้การว่าจำเลยที่ ๔ มิได้ประมาทเหตุเกิดเพราะรถคันที่จำเลยที่ ๒ ขับชนรถจำเลยที่ ๓ จำเลยไม่ต้องรับผิด และต่อสู้อย่างอื่นทำนองเดียวกันจำเลยที่ ๑,๒
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาให้จำเลยที่ ๑,๒ และ ๓,๔ ใช้ค่าปลงศพแก่โจทก์ฝ่ายละ ๕๐๐ บาท และให้จำเลยทั้ง ๔ รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์อีก ๑๙,๖๐๐ บาทโดยแบ่งความรับผิดดังนี้ คือให้จำเลยที่ ๑,๒ รับผิด ๒ ใน ๓ ส่วน และจำเลยที่ ๓,๔ รับผิด ๑ใน ๓ ส่วน และให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันศาลพิพากษาเป็นต้นไป นับแต่วันละเมิดไม่ได้เพราะจำนวนเงินที่โจทก์ขอมาไม่แน่นอน และไม่ใช่กรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์ตาม ป.พ.พ.ม. ๙๘๐
จำเลยทั้ง ๔ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้ง ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าความเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดนั้นอาจเกิดจากบุคคลหลายคนทำการละเมิดให้เกิดความเสียหายก็ได้ เช่นจำเลยที่ ๒,๔ ต่างฝ่ายต่างขับรถยนต์ชนกันโดยประมาทในคดีนี้ และจำเลยที่ ๑,๓ ต้องรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างตาม ม. ๔๒๕ นายบุญทาผู้ตายเป็นหัวหน้าหาเลี้ยงครอบครัว โจทก์เป็นผู้อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ตาย จึงมีประโยชน์ร่วมกันในคดี ย่อมเป็นโจทก์ฟ้องร่วมกันได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง.ม. ๕๙ ฝ่ายจำเลยทั้ง ๔ แม้จะมิได้มีประโยชน์ร่วมกันก็ต้องรับผิดในความเสียหายอันเดียวกัน จำเลยทั้ง ๔ จึงถูกฟ้องร่วมกันได้
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ความรับผิดในค่าเสียหายไม่ควรจะยิ่งหย่อนกว่ากันนั้น ป.พ.พ.ม. ๔๓๘ วรรคต้น บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด” เรื่องนี้ศาลฟังข้อเท็จจริงแห่งการละเมิดในคดีอาญาว่าจำเลยที่ ๒ ประมาทยิ่งกว่าจำเลยที่ ๔ ลงโทษหนักกว่าเท่าตัว ฉนั้นที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ ๑,๒ รับผิดในค่าเสียหาย ๒ เท่า ของจำเลยที่ ๓,๔ จึงเป็นการชอบด้วยพฤติการณ์แห่งคดีและบท ก.ม.แล้ว และเห็นว่าค่าเสียหายนั้นศาลล่างทั้งสองกำหนดให้สมด้วยฐานะของโจทก์แล้ว ไม่มากเกินไป ฯลฯ
จึงพิพากษายืน