คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 168/2481

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรม์ซึ่งพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ธรรมดาแต่ผู้พิมพ์มิได้เซ็นชื่อเป็นผู้พิมพ์ไว้นั้นไม่ตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

คดีเรื่องนี้เกิดพิพาทกันด้วยเรื่องที่ดินในที่สุดคู่ความตกลงกันขอให้ศาลวินิจฉัยพินัยกรรม์ที่โจทก์อ้างข้อเดียวว่าถ้าใช้ได้โจทก์ก็ชนะ
ได้ความว่าพินัยกรรม์ฉะบับพิพาทได้พิมพ์ขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์ แต่ผู้พิมพ์มิได้เซ็นชื่อเป็นผู้พิมพ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าพินัยกรรม์นั้นใช้ได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าพินัยกรรมนั้นใช้ไม่ได้เป็นโมฆะ
ศาลฎีกาตัดสินว่า ม.๑๖๗๑ ที่บัญญัติให้ผู้เขียนพินัยกรรม์ที่มิได้เป็นผู้ทำพินัยกรรม์ลงลายมือชื่อของตนและระบุว่าเป็นผู้เขียนนั้นไม่มีบทบัญญัติให้เป็นโมฆะดังจะเห็นได้โดย ม.๑๗๑๕ ที่มิได้ระบุ ม.๑๖๗๑ ไว้ แบบของพินัยกรรมอย่างพินัยกรรม์รายพิพาทนี้ ม.๑๖๕๖ มิได้บัญญัติว่าการเขียนผู้เขียนจะต้องลงลายมือชื่อ แบบของการเขียนกับแบบของพินัยกรรมกรรม์นั้นต่างกัน แม้ว่าการเขียนจะผิดต่อประมวลแพ่งฯ ม.๑๖๗๑ ก็ดี จะเป็นโมฆะตาม ม.๑๑๕ ก็หาไม่ เพราะพินัยกรรมซึ่งเป็นโมฆะเพราะทำผิดแบบนั้นมีบัญญัติไว้โดยฉะเพาะใน ม.๑๗๑๕ แล้ว เห็นว่าพินัยกรรม์ฉะบับนี้ผิดแบบของการเขียน มิใช่ผิดแบบของพินัยกรรม์ จึงพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น

Share