คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2472

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน วิธีพิจารณาอาญา ดุลพินิจในการลงโทษอาญา ม.11,78

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงได้ความว่า เจ้าพนักงานราชโลหกิจมีคำสั่งห้ามจำเลยให้หยุดทำเหมืองแร่ชั่วคราว เพราะอาจจะเกิดอันตรายแก่บุคคลแลเสียหายแก่ทางรถไฟหลวงจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งแลทำเหมืองแร่ตลอดมา
ศาลมณฑลนครศรีธรรมราชตัดสินว่า จำเลยมีผิดตาม พ.ร.บ.การทำเหมืองแร่ พ.ศ.๒๔๖๑ มาตรา ๕๓-๗๙ ให้ปรับ ๒๐๐ บาท ลดฐานปราณีย์เสียกึ่งหนึ่งคงปรับ ๑๐๐ บาท ถ้าไม่มีเงินเสียให้จัดการตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๘ ข้อที่โจทก์ขอให้ปรับจำเลยเปนรายวันให้ยกเสีย โจทก์อุทธรณ์ขอให้ปรับจำเลยเปนรายวัน ๆ ละ ๕ บาท แลให้ลงโทษตามมาตรา ๖๔ อีกด้วย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้โทษปรับอย่างเดียวอายุความต้องอยู่ในกำหนด ๑ ปีตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑ แล ๗๘ ข้อ ๔ เรื่องนี้เจ้าพนักงานได้ออกคำสั่งห้ามจำเลยแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๙ มาจนถึงวันฟ้อง ( คือวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๗๐ ) เกินกำหนด ๑ ปีขาดอายุความแล้ว ให้ยกฟ้องโจทก์เสีย
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยรับว่าได้ทำเหมืองแร่ต่อเนื่องกันตลอดมา จะนับอายุความตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานออกคำสั่งห้ามจำเลยไม่ได้ คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ ส่วนข้อที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๖๔ นั้น กรรมการเห็นว่าความในมาตรา ๖๔ ข้อ ๒ ลงโทษแก่ผู้ไขน้ำล้างแร่หรือเททิ้งสิ่งต่าง ๆ ให้ทับถมลงในถนนหนทางบ้านเรือนจนเกินการเสียหายขึ้นแล้วแต่เรื่องนี้ตามฟ้องโจทก์กล่าวเพียงว่าจำเลยทำให้มูลดินทรายทับลงในที่ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายแก่บุคคลแลทางรถไฟเท่านั้น จำเลยจึงยังไม่มีผิดตามมาตรา ๖๔ แต่เจ้าพนักงานมีอำนาจจะสั่งให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือให้หยุดทำเหมืองแร่เสียชั่วคราวได้ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็มีผิดตาม พ.ร.บ.การทำเหมืองแร่มาตรา ๕๓ แต่มาตรานี้ไม่ได้กำหนดลงโทษไว้ จึงต้องใช้มาตรา ๗๙ ซึ่งเปนบทลงโทษทั่วไป กับมีความเห็นต่อไปว่าตามมาตรา ๗๙ ที่บัญญัติให้ปรับเปนรายวันด้วยอีกวันละ ๕ บาทนั้น ก็เปนบทสำหรับลงโทษให้หนัก แต่การที่จะลงโทษหนักเบาประการใดย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลจะเห็นสมควร เรื่องนี้ที่ศาลเดิมลงโทษจำเลยมาเปนการสมควรแล้ว จึงพิพากษากลับคำตัดสินศาลอุทธรณ์ให้บังคับคดีไปตามศาลเดิม

Share