คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7189/2562

ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7189/2562

          คดีนี้เป็นการวางหลักในเรื่องการรักษาความลับของนายจ้าง จากการที่ลูกจ้างนำ
ข้อมูลความลับของนายจ้างส่งเข้าอีเมล์ส่วนตัว

1. คำพิพากษาย่อยาว

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 1,013,200 บาท 
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 101,320 บาท 
เงินบำเหน็จ 607,692 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 3,000,000 บาท 
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป
จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า วันที่ 1 กันยายน 2545 จำเลยจ้างโจทก์
เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นครูฝึกบุคลากร ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 
101,320 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน กำหนดเกษียณอายุของโจทก์
ในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 จำเลยมีศูนย์เศรษฐพัฒน์ไว้สำหรับฝึกอบรมลูกจ้างของจำเลยหรือ
บริษัทอื่นที่จะมาทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งกับจำเลย มุ่งหมายเพื่อฝึกอบรม
บุคลากรให้ทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งได้อย่างปลอดภัยโดยไม่แสวงหากำไร
ในทางเศรษฐกิจ ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา ห่างไกลจาก
ศูนย์ฝึกอบรมพัทยา จังหวัดชลบุรี ที่โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการอยู่ซึ่งจดทะเบียน
จัดตั้งเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2558 ประกอบกิจการฝึกอบรมบุคลากรด้านความปลอดภัย
ในการทำงานในทะเลที่ผู้เข้ารับการอบรมเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยหรือลูกจ้าง
ของบริษัทที่จะมาทำงานกับจำเลย จึงเป็นบุคคลคนละกลุ่มกันไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน 
ยากที่จะมีผลกระทบต่อกัน การเปิดฝึกอบรมบุคลากรของศูนย์ฝึกอบรมพัทยาของโจทก์
ไม่ขัดกับผลประโยชน์ของจำเลยหรือมีผลกระทบทำให้กิจการของจำเลยเสียประโยชน์
หรือเกิดความเสียหาย ไม่เป็นการประกอบกิจการในลักษณะแข่งขันทางธุรกิจกับจำเลย 
และไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้เวลาระหว่างทำงาน ละทิ้งหน้าที่ หรือใช้อุปกรณ์ของจำเลยไปทำงาน
ให้แก่ศูนย์ฝึกอบรมพัทยาของโจทก์ จึงไม่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และไม่เป็นการฝ่าฝืน
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย รายงานการตรวจสอบเอกสารหมาย ล.5 
เป็นเอกสารที่มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษแต่จำเลยไม่ทำคำแปลยื่นต่อศาล ไม่ชอบด้วย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสาม ไม่อาจรับฟังได้ว่าข้อความ
ในเอกสารดังกล่าวเป็นความลับหรือไม่ จึงฟังได้ตามคำเบิกความโจทก์ว่าเป็นเพียง
การประเมินผลตรวจสอบบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์การฝึก และการบริหารจัดการ
ตามหลักสูตรอบรมของสถาบันฝึกอบรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง (OPITO) ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วไป
ของการฝึกอบรมบุคลากร ไม่ถือเป็นความลับทางธุรกิจหรือทางการค้าของจำเลยเป็นพิเศษ 
แม้เปิดเผยออกมาก็ไม่ทำให้จำเลยเสียหายแต่อย่างใด การที่โจทก์นำข้อมูลในเอกสารดังกล่าว
ส่งเข้าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของโจทก์เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำงาน โดยไม่ปรากฏว่า
โจทก์ได้ส่งข้อมูลต่อไปให้บุคคลอื่น โจทก์จึงไม่ได้นำความลับของจำเลยไปเปิดเผยทำให้จำเลย
ได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงไม่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และไม่เป็น
การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย วันที่ 27 มิถุนายน 2559 จำเลยแต่งตั้ง
กรรมการสอบสวนโจทก์ตามที่ได้รับการร้องเรียนในบัตรสนเทห์ซึ่งไม่ปรากฏชื่อผู้ร้องเรียน 
วันที่ 29 มิถุนายน 2559 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดเกษียณอายุเพียง 1 วัน 
พฤติการณ์ของจำเลยทั้งการตั้งข้อกล่าวหาและระยะเวลาดำเนินการเลิกจ้างอย่างรีบร้อน 
แสดงได้ว่า จำเลยมีเจตนาเลิกจ้างโจทก์เพื่อหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินอื่นตามกฎหมาย 
จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่มีเหตุผล
อันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,922,212 บาท 
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 1,013,200 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 
7.5 ต่อปีในต้นเงิน 909,012 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน พิพากษายืน

          จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า 
โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งครูฝึกบุคลากร ต่อมาโจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นและ
กรรมการในบริษัทพัทยา อินเตอร์เนชั่นแนล เซฟตี้ เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการ
อบรมบุคลากรด้านความปลอดภัยในการทำงานในทะเล โจทก์ส่งข้อมูลตามเอกสารหมาย ล.5 
จากจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปเข้าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของโจทก์ 
แล้วศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด 
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี
ครบถ้วนแล้ว อุทธรณ์อื่นของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งและเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแล้ว
พิพากษายืน

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อ 1.3 มีว่า การที่โจทก์ส่งข้อมูลตามรายงานการ
ตรวจสอบเอกสารหมาย ล.5 ไปที่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของโจทก์ เป็นการทำซ้ำซึ่งข้อมูล
อันเป็นลิขสิทธิ์ของคู่สัญญาของจำเลย อันเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและ
เป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง
แก่โจทก์หรือไม่นั้น เมื่อเอกสารหมาย ล.5 เป็นเอกสารของสถาบันฝึกอบรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง
ของสหราชอาณาจักร (Offshore Petroleum Industry Training Organization หรือ OPITO) 
ที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในในการตรวจสอบกิจการของจำเลย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกิจการและ
การบริหารจัดการองค์กรของจำเลยเพื่อรับรองมาตรฐานการฝึกอบรมและการประเมินของ
ศูนย์ฝึกอบรมเศรษฐพัฒน์ของจำเลย และข้อมูลในเอกสารดังกล่าวเป็นข้อมูลที่จำเลยมีสิทธิหวงกัน
ตามข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสถาบันฝึกอบรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักร 
ซึ่งระบุว่าห้ามทำซ้ำทั้งหมด หรือบางส่วนของเอกสาร และห้ามเปิดเผยเอกสารต่อบุคคลที่สามโดย
ไม่ได้รับอนุญาตจากสถาบันฝึกอบรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักรก่อน 
ทั้งในการทำงาน โจทก์กับจำเลยก็มีข้อตกลงต่อการรักษาความลับและพันธกรณีอื่น ๆ 
โดยโจทก์ยินยอมที่ป้องกันรักษาความลับของข้อมูลและสารสนเทศของจำเลย แสดงให้เห็นว่า 
จำเลยให้ความสำคัญต่อการป้องกันและเก็บรักษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจการของจำเลย 
การที่โจทก์นำข้อมูลเอกสารหมาย ล.5 ส่งเข้าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของโจทก์ทำให้ง่ายต่อ
การส่งข้อมูลดังกล่าวต่อไปหรือนำข้อมูลออกไปโดยจำเลยไม่อาจติดตามได้ การกระทำของโจทก์
ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่สุจริตและเป็นการนำความลับของบริษัทจำเลยไปเปิดเผยโดย
ไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย จึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและถือเป็นการ
กระทำผิดวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 33.4 และ 33.5 
เป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติ
คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) (4) ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมาย
แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์
โดยมีเหตุอันควร การที่จำเลยปรับลดเงินบำเหน็จของโจทก์จึงเป็นไปตามแผนสวัสดิการ
เฉพาะท้ายคำแถลงขอนำส่งเอกสารของโจทก์ ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2560 โดยชอบแล้ว 
ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

          พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share