การบรรยายฟ้องและการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 70 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5053/2560)

ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที

การบรรยายฟ้องและการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 70

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5053/2560

          แม้จะระบุวันนัดกระทำความผิด และไม้พะยูงจำนวนเดียวกันแต่คำฟ้องของโจทก์ข้อ 2 (ก) และข้อ 2 (ข) มิได้มีข้อความใดระบุยืนยันหรือทำให้เข้าใจได้ว่า จำเลยกระทำผิดฐานเป็นตัวการทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ หรือรับไว้ซึ่งไม้ของกลางโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่คนร้ายได้มาจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ทั้งสองฐานในคราวเดียวกัน และมิได้มีความขัดแย้งกัน แต่เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยและเลือกลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ คำฟ้องของโจทก์ข้อ 2 (ก) และข้อ 2 (ข) ถือได้ว่าเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ดังนั้น ฟ้องโจทก์ข้อ 2 (ก) และ ข้อ 2 (ข) จึงไม่ขัดแย้งกันและไม่เคลือบคลุม

          พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 70 เป็นบทบัญญัติพิเศษที่บัญญัติให้ผู้ใดรับไว้ด้วยประการใด ซ่อนเร้น จำหน่ายหรือช่วยพาเอาไปเสียให้พ้น ซึ่งไม้หรือของป่าที่ตนรู้แล้วว่าเป็นไม้หรือของป่าที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำผิดต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้มีความผิดฐานเป็นตัวการในการกระทำผิดนั้น แม้ผู้นั้นจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในภายหลังจากการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว หรือมิได้เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดโดยตรงมาตั้งแต่ต้นก็ตาม ก็ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการในการกระทำความผิดนั้นด้วย คำรับสารภาพของจำเลยในข้อหารับไว้ด้วยประการใดซึ่งไม้ของกลางที่ตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำผิด กับข้อหามีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชัดแจ้งและไม่เคลือบคลุมแต่อย่างใด ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามฟ้องของโจทก์ได้

Share