แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแม้จะมีกฎหมายบัญญัติให้เลิกกันเพราะเหตุล้มละลาย แต่เมื่อภายหลังศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายนั้นเสียแล้ว ก็ย่อมกลับมีสภาพเป็นนิติบุคคลดังเดิมมีอำนาจฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยในฐานะที่โจทก์ที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และโจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนในห้างโจทก์ที่ 1
จำเลยให้การต่อสู้หลายประการ ซึ่งยังไม่มีปัญหาและว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ที่ 1 ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายสิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว แม้ภายหลังศาลจะได้ยกเลิกการล้มละลายก็ไม่กลับทำให้โจทก์มีสภาพเป็นนิติบุคคลอีก และโจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วน ไม่มีสิทธิหรืออำนาจฟ้องเป็นส่วนตัว
ในวันชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับกันข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโจทก์ที่ 1 และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต่อมาได้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายนั้น
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยโดยเห็นควรวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาที่ว่าโจทก์ที่ 1 ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลาย เพราะเหตุที่โจทก์ในคดีล้มละลายไม่วางเงินประกันและไม่มีเจ้าหนี้อื่นเข้าชำระแทนจะทำให้ห้างโจทก์ที่ 1 ซึ่งเลิกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1069 มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้หรือไม่ และโจทก์ที่ 2 ในฐานะส่วนตัวผู้เป็นหุ้นส่วน มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำสั่งยกเลิกการล้มละลายหาเป็นผลทำให้ห้างโจทก์ที่ 1 ที่เลิกกันไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1069, 1080 กลับคืนสภาพปกติต่อไปอีกไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้มีบทบัญญัติให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่เลิกกันเมื่อห้างล้มละลายจะกลับเป็นไม่ต้องเลิกเพราะเหตุที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายได้อีก การดำเนินการของห้างโจทก์เมื่อเลิกก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 1247, 1259 โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ในฐานะส่วนตัวผู้เป็นหุ้นส่วนหามีอำนาจฟ้องจำเลยไม่ ประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ที่ 1 กลับมีสภาพเป็นนิติบุคคลดังเดิมมีอำนาจฟ้องได้ ส่วนโจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับหนี้สินของโจทก์ที่ 1 พิพากษาแก้ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 เป็นโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 135 บัญญัติให้อำนาจศาลยกเลิกการล้มละลายได้ ซึ่งเมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว คดีล้มละลายนั้นก็เป็นอันยกเลิกไป มีผลให้ผู้ล้มละลายสามารถจัดการทรัพย์สินได้ด้วยตนเอง ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน จะสามารถจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ก็ต้องกลับมีสภาพนิติบุคคลเช่นเดิม ซึ่งเกิดขึ้นโดยผลของคำสั่งศาลที่ให้ยกเลิกการล้มละลายนั้นเอง แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1069 บัญญัติให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเลิกกันเมื่อห้างล้มละลาย แต่มาตรา 1247 ก็บัญญัติว่า การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนซึ่งล้มละลายให้เป็นไปตามกฎหมายลักษณะล้มละลาย และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 135 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอต่อศาลให้ยกเลิกการล้มละลายได้และมาตรา 136 ยังบัญญัติว่าคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135(1) (2) ไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด กรณีของโจทก์ที่ 1 อยู่ในบังคับตามมาตรา 135(1) คือเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่วางเงินค่าใช้จ่ายตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้องและไม่มีเจ้าหนี้อื่นสามารถวางเงินได้ เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของโจทก์ที่ 1 แล้วเจ้าหนี้ก็ยังเรียกร้องหนี้สินจากโจทก์ที่ 1 ได้อีก หากถือว่าโจทก์ที่ 1 สิ้นสภาพไม่เป็นนิติบุคคลแล้ว ก็ไม่มีตัวตนลูกหนี้ที่เจ้าหนี้จะบังคับเรียกร้องหนี้สินได้ ซึ่งเป็นการขัดกับบทมาตราดังกล่าว และเมื่อมีบทบังคับให้โจทก์ที่ 1 ต้องชดใช้หนี้สินแก่บรรดาเจ้าหนี้อยู่อีก เหตุใดจะตัดสิทธิมิให้โจทก์บังคับหนี้สินเอาแก่ลูกหนี้ของโจทก์ได้ด้วยและถ้าพิจารณาต่อไปถึงความในมาตรา 135(3) และ (4) จะเห็นได้ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้ว ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินไปทั้งหมดกลับมีสภาพเช่นเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทก์ที่ 1 ซึ่งศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135(1) ก็ย่อมกลับมีสภาพดังเดิมได้เช่นเดียวกันศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ที่ 1 กลับมีสภาพเป็นนิติบุคคลมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
พิพากษายืน