คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 977/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาเช่าระบุไว้ว่าจำเลยเช่าเพื่อทำการค้า จำเลย ย่อมต่อสู้และนำสืบได้ว่าจำเลยเช่าเพื่ออยู่อาศัย
โจทก์มิได้กล่าวหาเลยว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าสองคราวติดๆกันอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ.2504 มาตรา 17(1) การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาจึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก
การที่ผู้เช่าจะชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าหรือไม่นั้น ไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเช่าตึกเลขที่ 191 ของโจทก์เพื่อทำการค้ามีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2494 ครบกำหนดสัญญา จำเลยอยู่ทำการค้าต่อมาโดยไม่มีกำหนดเวลา โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไป จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่า จำเลยเช่าเพื่ออยู่อาศัยไม่ได้ผิดสัญญาจำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ฯลฯ และถือว่าคู่สัญญาได้ทำสัญญากันใหม่โดยไม่มีกำหนดเวลา ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากตึก ฯลฯ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาฉบับสุดท้ายลงวันที่ 22 ตุลาคม 2494 ระบุว่าเช่าเพื่อประโยชน์ทำการค้า เพื่อจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้เช่าได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พ.ศ. 2489 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2490 จำเลยย่อมต่อสู้และนำสืบได้ว่าจำเลยเช่าเพื่ออยู่อาศัย เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยเช่าอยู่อาศัยตลอดมา จำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าสองคราวติด ๆ กัน เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มิได้กล่าวหาเลยว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าสองคราวติด ๆ กัน อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 มาตรา 17(1) การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก และการที่ผู้เช่าจะชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าหรือไม่นั้นไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

พิพากษายืน

Share