แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ผู้สร้างสรรค์ คือ ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์ดังกล่าวต้องเป็นการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ดังนั้นงานที่จะมีลิขสิทธิ์นั้นเพียงปรากฏว่าเป็นงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์โดยผู้ใช้ความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ระดับหนึ่งในงานนั้น และมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แล้วโดยไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้น หากผู้สร้างสรรค์สองคนต่างคนต่างสร้างสรรค์งานโดยมิได้ลอกเลียนซึ่งกันและกัน แม้ว่าผลงานที่สร้างสรรค์ของทั้งสองคนออกมาจะมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ผู้สร้างสรรค์ทั้งสองต่างคนต่างก็ได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นแยกต่างหากจากกัน
โจทก์เป็นผู้เขียนและเรียบเรียงหนังสือเรื่อง “ความคลาดเคลื่อนของความหมายในพจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ (ในทางนิติศาสตร์) และพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๓๗ กับความคลาดเคลื่อน” นั้น หากพิเคราะห์เนื้อหาโดยรวมของหนังสือทั้งเล่ม เป็นการหยิบยกคำศัพท์แต่ละคำและความหมายของคำที่จำเลยให้ไว้ในพจนานุกรมขึ้นมาเป็นวัตถุแห่งการวิจารณ์ โดยการวิจารณ์คำแต่ละคำเริ่มต้นด้วยคำศัพท์และความหมายของคำแต่ละคำ ต่อด้วยเนื้อหาของการวิจารณ์ที่มีการอ้างบทกฎหมายและความเห็นทางตำราประกอบ และความหมายของคำที่ควรจะเป็น โดยไม่ปรากฏว่ามีการเลียนแบบผู้ใด นับว่าเป็นงานที่โจทก์ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะในการค้นคว้า จัดลำดับและเรียบเรียงที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ถือว่าโจทก์ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ดังนั้น โจทก์จึงย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานหนังสือดังกล่าว ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๖ วรรคแรก ที่จะได้รับความคุ้มครองงานอันเป็นวรรณกรรมของโจทก์
สำหรับเฉพาะในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงานวิจารณ์คำศัพท์ทั้ง ๗ คำคือ ครอบครอง ครอบครองปรปักษ์ คู่สัญญา ตัวการ พินัยกรรม คดีดำ คดีแดง ซึ่งเป็นบางส่วนของหนังสือที่โจทก์เป็นผู้เขียนนั้น จำต้องวิเคราะห์เป็นคำ ๆ ไป ซึ่งเนื้อหางานวิจารณ์คำแต่ละคำนั้นประกอบด้วย ๓ ส่วน ส่วนที่หนึ่งได้แก่ คำศัพท์และความหมายของคำศัพท์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการวิจารณ์ ส่วนที่สองเนื้อหาการวิจารณ์ และส่วนที่สามซึ่งเป็นส่วนที่พิพาทกันในคดีนี้ คือ ส่วนความหมายของคำศัพท์ ตามที่ควรจะเป็น ดังนั้น เนื้อหาส่วนที่สามซึ่งเป็นบทสรุปดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องการชี้ให้เห็นว่า ความหมายที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ความหมายของคำที่เป็นบทสรุปของโจทก์ แต่ละความหมายนั้นแล้วก็พบว่า ความหมายของคำว่า ครอบครอง ครอบครองปรปักษ์ ตัวการ และพินัยกรรม ล้วนมีเนื้อหาตรงกับความหมายที่ปรากฏอยู่แล้วในกฎหมายคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายอาญา แตกต่างกันบ้างเฉพาะถ้อยคำที่เป็นรายละเอียดเล็กน้อย เช่น การเชื่อมโยงคำ หรือการเรียงประโยค ดังนั้น ในส่วนความหมายของคำว่า ครอบครอง ครอบครองปรปักษ์ ตัวการ และพินัยกรรม ในหนังสือของโจทก์นั้น จึงเป็นเนื้อความในตัวบทกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่มีลิขสิทธิ์ในความหมายของคำดังกล่าวตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗ (๒)
ส่วนคำว่า “คู่สัญญา” “คดีดำ” และ “คดีแดง” แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติในลักษณะเป็นการให้ความหมายไว้โดยตรงเช่นเดียวกับคำ ๔ คำที่กล่าวมาแล้ว แต่โจทก์ได้มาจากการดูตัวบทกฎหมาย และเป็นถ้อยคำที่อาจารย์ของโจทก์ใช้ในการสอนในมหาวิทยาลัยและอธิบายความตั้งแต่เมื่อครั้งโจทก์เป็นนักศึกษากฎหมายซึ่งตรงกับความหมายที่โจทก์ได้ให้ความหมายไว้ จึงทำให้น่าเชื่อว่าความหมายของคำทั้ง ๓ คำดังกล่าว ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของโจทก์เองโดยแท้ หากแต่เป็นความหมายที่มีการสร้างสรรค์และเข้าใจกันโดยทั่วไปมาก่อนโดยผู้ปฏิบัติหรือคณาจารย์ทางนิติศาสตร์ท่านอื่น ๆ จากเนื้อหาของกฎหมาย แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคดีและคำพิพากษาของศาล ซึ่งมีการถ่ายทอดต่อกันมาโดยทางคำบรรยาย ทางตำราหรือเอกสารทางวิชาการ แล้วโจทก์เป็นผู้นำความหมายดังกล่าวมารวมไว้เท่านั้น ความหมายของคำเหล่านี้จึงไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ ในอันที่จะได้รับความคุ้มครอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้ตัดความหมายของถ้อยคำทั้ง 7 คำตามฟ้องในการพิมพ์พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทยในครั้งต่อ ๆ ไป และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 100,000 บาท และหากจำเลยยังคงนำความหมายของคำทั้งเจ็ดของโจทก์ตามฟ้องไปใช้ในการพิมพ์ครั้งต่อ ๆ ไป ก็ให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายในอนาคตให้โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในความหมายของคำ 7 คำตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจคัดลอก ทำซ้ำ หรือดัดแปลงมาจากข้อเขียนของโจทก์อันเป็นสาระสำคัญ อันเป็นการละเมิด แต่การกระทำของจำเลยเป็นเรื่องจำเป็นของการทำหน้าที่ค้นคว้า วิจัยและเผยแพร่ทางวิชาการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 46 (6) และไม่ขัดกับการแสวงหาประโยชน์ตามปกติของโจทก์ และไม่กระทบกระเทือนต่อประโยชน์ของโจทก์แต่อย่างใดเลย การกระทำของจำเลยจึงเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิด พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า โจทก์มีลิขสิทธิ์ในความหมายของคำว่า 1. ครอบครอง 2. ครอบครองปรปักษ์ 3. คู่สัญญา 4. ตัวการ 5. พินัยกรรม 6. คดีดำ และ 7. คดีแดง ตามที่ระบุไว้ในหนังสือหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 บัญญัติว่า ผู้สร้างสรรค์ คือ ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์ดังกล่าวต้องเป็นการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ดังนั้นงานที่จะมีลิขสิทธิ์นั้นเพียงปรากฏว่าเป็นงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์โดยผู้ใช้ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ระดับหนึ่งในงานนั้น และมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แล้วโดยไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้น หากผู้สร้างสรรค์สองคนต่างคนต่างสร้างสรรค์งานโดยมิได้ลอกเลียนซึ่งกันและกัน แม้ว่าผลงานที่สร้างสรรค์ของทั้งสองคนออกมาจะมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ผู้สร้างสรรค์ทั้งสองต่างคนต่างก็ได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นแยกต่างหากจากกัน
สำหรับหนังสือเรื่อง “ความคลาดเคลื่อนของความหมายในพจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 (ในทางนิติศาสตร์) และพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2537 กับความคลาดเคลื่อน” นั้น หากพิเคราะห์เนื้อหาโดยรวมของหนังสือทั้งเล่ม ซึ่งเป็นหนังสือขนาด 61 หน้า จัดเรียงเป็น 2 ส่วนใหญ่ ส่วนแรกในหน้า 1 ถึง 30 เรื่อง “ความคลาดเคลื่อนของความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 (ในทางนิติศาสตร์)” ส่วนที่สองในหน้า 37 ถึง 61 เรื่อง “พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2537 กับความคลาดเคลื่อน” ซึ่งทั้ง 2 ส่วนเป็นการหยิบยกคำศัพท์แต่ละคำและความหมายของคำที่จำเลยให้ไว้ในพจนานุกรมขึ้นมาเป็นวัตถุแห่งการวิจารณ์ ส่วนแรกรวม 28 คำ ส่วนที่ 2 รวม 22 คำ โดยการวิจารณ์คำแต่ละคำเริ่มต้นด้วยคำศัพท์และความหมายของคำแต่ละคำ ต่อด้วยเนื้อหาของการวิจารณ์ที่มีการอ้างบทกฎหมายและความเห็นทางตำราประกอบ และจบลงด้วย ความหมายของคำที่ควรจะเป็น โดยไม่ปรากฏว่ามีการเลียนแบบผู้ใด นับว่าเป็นงานที่โจทก์ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะในการค้นคว้า จัดลำดับและเรียบเรียงที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ถือว่าโจทก์ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ดังนั้น โจทก์จึงย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานหนังสือดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคแรก ที่จะได้รับความคุ้มครองงานอันเป็นวรรณกรรมของโจทก์
สำหรับเฉพาะในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงานวิจารณ์คำศัพท์ทั้ง 7 คำ ซึ่งเป็นบางส่วนของหนังสือนั้น จำต้องวิเคราะห์เป็นคำ ๆ ไป ซึ่งเนื้อหางานวิจารณ์คำแต่ละคำนั้นประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งได้แก่ คำศัพท์และความหมายของคำศัพท์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการวิจารณ์ ส่วนที่สองเนื้อหาการวิจารณ์ และส่วนที่สามซึ่งเป็นส่วนที่พิพาทกันในคดีนี้ คือส่วนความหมายของคำศัพท์ ตามที่ควรจะเป็น สำหรับส่วนที่หนึ่งคำศัพท์และความหมายของคำศัพท์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการวิจารณ์ นั้น ส่วนนี้โจทก์นำมาจากในหนังสือพจนานุกรมของจำเลย ไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเอง โจทก์จึงย่อมไม่มีลิขสิทธิ์ในงานส่วนนี้เพราะไม่ถือเป็นผู้สร้างสรรค์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 สำหรับส่วนที่สองการวิจารณ์คำแต่ละคำนั้น งานส่วนนี้เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ใช้ความรู้ในทางกฎหมาย ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะในการค้นคว้าและเรียบเรียงด้วยตนเอง โจทก์จึงย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานวิจารณ์ส่วนนี้เพราะถือเป็นผู้สร้างสรรค์ตามบทมาตราดังกล่าว หากมีผู้ใดไปทำซ้ำหรือดัดแปลงเนื้อหาแห่งการวิจารณ์ดังกล่าว ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของงานก็ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ของโจทก์ได้
สำหรับส่วนสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนที่พิพาทกันในคดีนี้ คือส่วนความหมายของคำศัพท์ตามที่ควรจะเป็น ได้แก่ “ครอบครอง คือ ยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อประโยชน์ของตน” “ครอบครองปรปักษ์ คือ ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ” “คู่สัญญา คือ ผู้มีความผูกพันตามสัญญา” “ตัวการ ในทางอาญา คือ ผู้ที่ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปโดยมีการกระทำร่วมกันและมีเจตนากระทำร่วมกัน ในทางแพ่ง คือ บุคคลผู้มอบอำนาจโดยการแต่งตั้งไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้บุคคลอีกคนหนึ่งทำการแทนตน ฯลฯ” “พินัยกรรม คือ การที่บุคคลแสดงเจตนาอันเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย” “คดีดำ คือ คดีที่ศาลรับฟ้องไว้แล้ว หรือยังไม่รับฟ้องก็ตาม แต่ศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดหรือจำหน่ายคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่ง” ” คดีแดง คือ คดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือคำสั่งจำหน่ายคดีแล้ว” นั้น เห็นว่า ในคำชี้แจงโดยย่อของโจทก์เองในหน้าบทนำหน้าที่ 8 ของหนังสือ โจทก์กล่าวไว้ว่า “ขอบอกกล่าวไว้เป็นหลักในที่นี้ด้วยว่า ถ้าเป็นความหมายในทางกฎหมายแล้ว ควรให้บทนิยามตามบทนิยามกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะเป็นการถูกต้องมากที่สุด ถ้าผิดเพี้ยนไปแล้ว ความหมายอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้โดยง่าย” ดังนั้น เนื้อหาส่วนที่สามซึ่งเป็นบทสรุปดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องการชี้ให้เห็นว่า ความหมายที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ความหมายของคำที่เป็นบทสรุปของโจทก์ แต่ละความหมายนั้นแล้วก็พบว่า ความหมายของคำว่า ครอบครอง ครอบครองปรปักษ์ ตัวการ และพินัยกรรม ล้วนมีเนื้อหาตรงกับความหมายที่ปรากฏอยู่แล้วในกฎหมายคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายอาญา แตกต่างกันบ้างเฉพาะถ้อยคำที่เป็นรายละเอียดเล็กน้อย เช่น การเชื่อมโยงคำ หรือการเรียงประโยค ดังนั้น ในส่วนความหมายของคำว่า ครอบครอง ครอบครองปรปักษ์ ตัวการ และพินัยกรรม ในหนังสือของโจทก์ จึงเป็นเนื้อความในตัวบทกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่มีลิขสิทธิ์ในความหมายของคำดังกล่าวตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 7 (2) ส่วนคำว่า “คู่สัญญา” “คดีดำ” และ “คดีแดง” แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติในลักษณะเป็นการให้ความหมายไว้โดยตรงเช่นเดียวกับคำ 4 คำที่กล่าวมาแล้ว แต่โจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับว่าความหมายของคำทั้ง 7 คำ นั้น โจทก์ได้มาจากการดูตัวบทกฎหมาย การสอนจากอาจารย์ต่าง ๆ และเป็นถ้อยคำที่อาจารย์ของโจทก์ใช้ในการสอนในมหาวิทยาลัยและอธิบายความตั้งแต่เมื่อครั้งโจทก์เป็นนักศึกษากฎหมายซึ่งตรงกับความหมายที่โจทก์ได้ให้ความหมายไว้ จึงทำให้น่าเชื่อว่าความหมายของคำทั้ง 3 คำ ที่เหลือ คือคำว่า “คู่สัญญา” “คดีดำ” และ “คดีแดง” ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของโจทก์เองโดยแท้ หากแต่เป็นความหมายที่มีการสร้างสรรค์และเข้าใจกันโดยทั่วไปมาก่อนโดยผู้ปฏิบัติหรือคณาจารย์ทางนิติศาสตร์ท่านอื่น ๆ จากเนื้อหาของกฎหมาย แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคดีและคำพิพากษาของศาล ซึ่งมีการถ่ายทอดต่อกันมาโดยทางคำบรรยาย ทางตำราหรือเอกสารทางวิชาการ แล้วโจทก์เป็นผู้นำความหมายดังกล่าวมารวมไว้เท่านั้น ความหมายของคำเหล่านี้จึงไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ในอันที่จะได้รับความคุ้มครอง และกรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยลอกความหมายของถ้อยคำดังกล่าวมาจากหนังสืออันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ในความหมายของคำทั้ง 7 คำตามฟ้อง นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น อนึ่ง เนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ผลแห่งคำพิพากษาจึงมิได้เปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ตกเป็นพับ