คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9692/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94บัญญัติห้ามเฉพาะการนำพยานบุคคลเข้าสืบแทนพยานเอกสารหรือประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อความในเอกสารในเมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้นแต่การที่ผู้คัดค้านร่วมนำสืบว่าผู้คัดค้านร่วมได้ชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ซื้อขายให้แก่จำเลยที่2เป็นจำนวนเงิน17,200,000บาทโดยนำพ.กับป.ซึ่งรู้เห็นในการซื้อขายมาเบิกความยืนยันประกอบเอกสารมิใช่นำสืบเพื่อให้บังคับตามสัญญาซื้อขายแต่เป็นการนำสืบถึงความเป็นจริงว่าผู้คัดค้านร่วมซื้อทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่2มาในราคาเท่าใดเพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านและศาลจะได้วินิจฉัยต่อไปว่าผู้คัดค้านร่วมได้กระทำโดยสุจริตหรือไม่ย่อมนำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94และการที่ผู้คัดค้านร่วมกับจำเลยที่2ไม่ได้ระบุราคาที่ซื้อขายอันแท้จริงจำนวนลงในสัญญาซื้อขายที่ดินที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นก็หาตกเป็นโมฆะไม่และรับฟังได้เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา456มีบทบังคับเพียงให้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้นซึ่งกรณีของจำเลยที่2กับผู้คัดค้านร่วมก็ได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ระบุราคาที่ซื้อขายครบถ้วนแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2533 จำเลยทั้งสองถูกศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2533ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านดำเนินการขอเพิกถอนการโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3710 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายวรวิทย์ คุณากรวงศ์ ซึ่งได้กระทำการโอนกันในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายผู้คัดค้านสอบสวนแล้วมีคำสั่งไม่ดำเนินการขอเพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของผู้คัดค้านที่ไม่เพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายวรวิทย์ คุณากรวงศ์ เพราะจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายวรวิทย์ในราคาเพียง 5,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าความจริงนายวรวิทย์รับโอนไว้โดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ส่วนที่ผู้คัดค้านสอบสวนได้ความว่า 17,200,000 บาท เป็นการฟังพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคาสูงกว่าราคาที่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการซื้อขายกันต่ำกว่าความเป็นจริง และเป็นการโอนกันโดยไม่สุจริต ขอให้กลับคำสั่งผู้คัดค้าน โดยให้ผู้คัดค้านดำเนินการขอเพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายวรวิทย์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านสอบสวนแล้วได้ความว่าการโอนที่ดินแปลงพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายวรวิทย์ คุณากรวงศ์ มีการซื้อขายกันจริงในราคา 17,200,000 บาทและการฟังพยานบุคคลเพื่อทราบว่ามีการซื้อขายกันด้วยราคาที่แท้จริงเป็นเงินเท่าไรนั้น ไม่ใช่เป็นการฟังพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ราคาที่ซื้อขายกันจริงเป็นราคาที่สมควรแก่ที่ดินแปลงพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ซื้อขายกันในขณะนั้นไม่มีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าเป็นการโอนกันโดยไม่สุจริต หรือเป็นการสมยอมกันการโอนที่ดินแปลงพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายวรวิทย์ได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่มีเหตุเพิกถอน ขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา นายวรวิทย์ คุณากรวงศ์ ผู้รับโอนยื่นคำร้องขอเข้าเป็นผู้คัดค้านร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้น มี คำสั่ง ยกคำร้อง ของ ผู้ร้อง
ผู้ร้อง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้ร้อง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การโอนระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านร่วมได้กระทำโดยสุจริตหรือไม่ ที่ผู้ร้องฎีกาว่า หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน ตามเอกสารหมาย จ.1จำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านร่วมระบุจำนวนเงินในสัญญาซื้อขายกันในราคา 5,000,000 บาท ศาลจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ระบุในหนังสือซื้อขายที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น การที่ผู้คัดค้านร่วมนำสืบว่าซื้อมาในราคา 17,200,000 บาท เมื่อราคาดังกล่าวไม่ทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ย่อมเป็นโมฆะและรับฟังไม่ได้และเป็นการต้องห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะผู้คัดค้านร่วมย่อมถูกปิดปากตามข้อความในเอกสารนั้นเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94บัญญัติห้ามเฉพาะการนำพยานบุคคลเข้าสืบแทนพยานเอกสาร หรือประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อความในเอกสารในเมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น แต่การที่ผู้คัดค้านร่วมนำสืบว่าผู้คัดค้านร่วมได้ชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ซื้อขายให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเงิน17,200,000 บาท โดยนำนางพิมลทิพ ธรรมรัตน์ ผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาประตูน้ำ กับนายประวิทย์หาขุน นายหน้าผู้ขายที่ดินพิพาทซึ่งรู้เห็นในการซื้อขายมาเบิกความยืนยันประกอบเอกสารว่า ผู้คัดค้านร่วมได้เบิกเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านร่วม ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ค.5 ถึงค.8 แล้วทำเป็นแคชเชียร์เช็คจำนวน 3 ฉบับ ตามเอกสารหมาย ค.9ถึง ค.11 และ ค.21 พร้อมด้วยเงินสดบางส่วนไปชำระให้จำเลยที่ 2รวมแล้วเป็นราคาที่ซื้อขายกันจริงจำนวน 17,200,000 บาท นั้นมิใช่นำสืบเพื่อให้บังคับตามสัญญาซื้อขาย แต่เป็นการนำสืบถึงความเป็นจริงว่าผู้คัดค้านร่วมซื้อทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 2มาในราคาเท่าใด ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้คัดค้านและศาลจะได้วินิจฉัยต่อไปว่า ผู้คัดค้านร่วมได้กระทำโดยสุจริตหรือไม่ ย่อมนำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ส่วนที่ผู้คัดค้านร่วมกับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ระบุราคาที่ซื้อขายอันแท้จริงจำนวน 17,200,000 บาท ลงในสัญญาซื้อขายที่ดินที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นก็หาตกเป็นโมฆะไม่ และรับฟังได้เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 มีบทบังคับเพียงให้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ซึ่งกรณีของจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านร่วมก็ได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ระบุราคาที่ซื้อขายครบถ้วนแล้ว การไม่ระบุราคาที่แท้จริงลงไปก็เป็นกรณีที่จะต้องไปว่ากล่าวในเรื่องการเลี่ยงภาษีในการซื้อขายที่ดินอีกกรณีหนึ่งต่างหาก เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบโต้แย้งว่าราคาซื้อขายตามที่ผู้คัดค้านสอบสวนได้ความไม่ถูกต้องอย่างไรทั้งมิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้คัดค้านร่วมรับโอนทรัพย์พิพาทโดยไม่สุจริตอย่างไร แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของนางนันทา ชื่นภิรมย์ พยานของผู้ร้องซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายประเมินราคาทรัพย์ กรมบังคับคดี ที่เบิกความว่า ทรัพย์พิพาทได้ประเมินราคาไว้ในปี 2530 เป็นเงิน8,900,000 บาท แต่ราคาซื้อขายในท้องตลาดประมาณ 13,000,000 บาทและนอกจากนี้ยังได้ความจากนางพวงเพชร เจริญวิริยะภาคย์เจ้าพนักงานที่ดินเบิกความเป็นพยานผู้ร้องฟังได้ว่า เมื่อปี 2526จำเลยที่ 2 ได้จำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ จำกัด ได้ราคาถึง 9,000,000 บาทตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.8ดังนี้ การซื้อขายทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านร่วมจึงไม่น่าจะซื้อขายกันในราคาเพียง 5,000,000 บาท ตามที่ผู้ร้องฎีกา แต่มีเหตุผลเชื่อได้ว่าซื้อขายกันจริงในราคา17,200,000 บาท อันเป็นราคาที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์ในขณะที่ผู้คัดค้านร่วมรับโอนทรัพย์พิพาทดังกล่าวเมื่อปี 2530 ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อนำสืบของผู้คัดค้านและผู้คัดค้านร่วมสามารถแสดงให้พอใจได้ว่าการโอนรายนี้ได้กระทำโดยสุจริต
พิพากษายืน

Share