คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9636/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยไม่ไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินในวันที่กำหนดตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินหรือสัญญาวางมัดจำ ความเสียหายของโจทก์ผู้จะขายย่อมเกิดขึ้นแล้วนับแต่วันนั้น การที่จำเลยเขียนเช็คและมอบเช็คให้แก่โจทก์ในวันที่จำเลยได้ตกลงชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แต่วันดังกล่าวก็มิใช่วันออกเช็ค วันออกเช็คคือวันอันเป็นวันที่ลงในเช็ค การออกเช็คพิพาทเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังในเบื้องต้นได้ว่า เมื่อวันที่ 19กรกฎาคม 2538 จำเลยทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากโจทก์ โดยวางเงินมัดจำและชำระราคาบางส่วนแล้ว กำหนดชำระราคาที่ดินที่เหลือทั้งหมดและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันในวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม2539 โจทก์และจำเลยตกลงเลื่อนวันชำระราคาที่ดินที่เหลือและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันไปเป็นวันที่ 18 ตุลาคม 2539 โดยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินขึ้นใหม่และจำเลยออกเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินจำนวน 475,920 บาท ลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ 18 ตุลาคม 2539 แก่โจทก์ เมื่อถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2539 โจทก์และจำเลยไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะซื้อขายกัน และโจทก์นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า”ลายมือชื่อไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคาร”

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ แต่การวินิจฉัยปัญหานี้จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คเพื่อการใด ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน โจทก์มีตัวโจทก์ นายลักษณ์ พุ่มสารี และนางกิมเลี้ยงพุ่มเจริญ เบิกความเป็นพยานทำนองเดียวกันว่า วันที่ 18 กรกฎาคม 2539จำเลยและภริยาของจำเลยมาติดต่อกับโจทก์บอกว่ามีเงินไม่พอรับโอนที่ดินสองแปลง ขอรับโอนที่ดินแปลงของนางกิมเลี้ยงพี่สาวโจทก์ก่อน ส่วนที่ดินของโจทก์นั้นจำเลยขอเลื่อนการโอนไปอีก 3 เดือน โดยจำเลยยินยอมจะใช้ค่าเสียหายให้ โจทก์ยินยอม ในวันเดียวกันจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนพระรามที่ 2 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2539 จำนวนเงิน475,920 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยคิดจากราคาที่ดินที่เหลือเป็นดอกเบี้ย 3 เดือน ในอัตราร้อยละ 1.50 บาท ต่อเดือน เห็นว่า โจทก์เป็นคู่สัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลย นางกิมเลี้ยงก็เป็นคู่สัญญาจะซื้อขายที่ดินกับภริยาจำเลย โดยนายลักษณ์เป็นพยานที่ลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อขายและวางมัดจำทุกฉบับ จึงย่อมจะรู้เห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวสอดคล้องกับสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ประกอบกับเมื่อคิดคำนวณค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 1.50 ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ของราคาที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 10,576,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.2 แล้ว จะได้เงินจำนวน 475,920 บาท เท่ากับจำนวนเงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง และเชื่อว่าจำเลยได้ตรวจสอบที่ดินและพอใจจะซื้อที่ดินตามสภาพที่เป็นอยู่ หากจำเลยเห็นว่าที่ดินไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะและประสงค์จะซื้อที่ดินในสภาพที่ออกสู่ทางสาธารณะได้จำเลยซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ก็น่าจะต้องระบุเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในสัญญาโดยชัดแจ้ง แต่สัญญาดังกล่าวกลับไม่มีข้อความระบุว่าโจทก์จะต้องดำเนินการให้ที่ดินออกสู่ทางสาธารณะนอกจากนั้นยังปรากฏว่าภริยาจำเลยยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงของนางกิมเลี้ยงโดยมิได้โต้แย้ง ส่วนจำเลยก็ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินหรือสัญญาวางมัดจำฉบับใหม่กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 เลื่อนวันรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินออกไปอีก 3 เดือน พร้อมทั้งออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4มอบให้โจทก์ ซึ่งหากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยและภริยาจำเลยไม่น่าที่จะปฏิบัติเช่นนั้น และจำเลยก็น่าจะระบุเงื่อนไขเรื่องทางออกสู่ทางสาธารณะไว้ในสัญญาที่ทำขึ้นใหม่ตามเอกสารหมาย จ.3 แต่ก็ไม่ปรากฏข้อความดังกล่าวข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 เพื่อชำระหนี้ค่าเสียหายที่ไม่สามารถไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.2

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า การออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4ดังกล่าว เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยไม่ไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินในวันที่กำหนดตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.2 นั้นความเสียหายของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นแล้วนับแต่วันนั้น มิใช่เกิดเมื่อครบกำหนดในวันที่ระบุตามสัญญาจะซื้อขายหรือวางมัดจำเอกสารหมาย จ.3 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ส่วนวันออกเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 นั้นคือวันที่ลงในเช็ค วันที่เขียนเช็คหาใช่วันออกเช็คไม่ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังเป็นยุติว่า จำเลยเขียนเช็คและมอบเช็คให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2539 ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยได้ตกลงชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพราะไม่สามารถไปรับจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่วินิจฉัยข้างต้นอยู่แล้ว แต่วันดังกล่าวก็มิใช่วันออกเช็ค วันออกเช็คคือวันที่ 18 ตุลาคม 2539 อันเป็นวันที่ลงในเช็ค ดังนั้น เช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.4 จึงเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยแต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหนักไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่”

พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน

Share