คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การวินิจฉัยเกี่ยวกับหน่วยการขนส่งจะต้องวินิจฉัยจากใบตราส่งว่าระบุจำนวนลักษณะของหน่วยการขนส่งไว้อย่างไรการที่ใบตราส่งสินค้าระบุถึงการบรรจุของในตู้คอนเทนเนอร์1 ตู้แต่ก็ระบุว่าสินค้ากระดาษทิชชูของโจทก์บรรจุในกล่องจำนวน 7 กล่องหรือลังอันเข้าลักษณะเป็นหน่วยการขนส่งตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 จึงเป็นกรณีใบตราส่งระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ตู้สินค้าจำนวน 1 ตู้ในกรณีนี้จึงมิใช่หน่วยการขนส่ง ส่วนจำนวนม้วนนั้นเป็นเพียงลักษณะของสินค้าแต่ละชิ้นเท่านั้น มิใช่หน่วยการขนส่งเช่นกัน ดังนั้นจึงถือว่าสินค้าที่มอบให้ทำการขนส่งทั้งหมดมีจำนวน7 หน่วยการขนส่ง
สินค้าที่เสียหายมีเพียง 2 หน่วยการขนส่ง เป็นสินค้าที่เสียหาย 258 ม้วน น้ำหนัก 614.04 กิโลกรัม คิดข้อจำกัดความรับผิดตามน้ำหนักสินค้า 30 บาท ต่อ 1 กิโลกรัมได้18,421.20 บาท แต่คิดตามหน่วยการขนส่งได้ 10,000 บาทต่อ 1 หน่วยการขนส่งจากสินค้าที่เสียหาย 2 หน่วยการขนส่งเป็นเงิน 20,000 บาท ซึ่งมากกว่าข้อจำกัดความรับผิดคิดตามน้ำหนักดังกล่าว จึงถือว่ามีข้อจำกัดความรับผิด 20,000 บาทแม้สินค้าที่เสียหายมีมูลค่า 65,208.89 บาท จำเลยก็รับผิดจำกัดเพียง 20,000 บาท ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และมาตรา 59(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้ากระดาษทิชชู จำนวน7 แท่นรอง หรือ 840 ม้วน ไว้จากบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน(ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงิน 249,501.18 บาท ที่ผู้เอาประกันภัยซื้อจากบริษัทไฟน์เนส จำกัด ในประเทศสวีเดน จำนวน 1,997 กิโลกรัมเป็นเงิน 8,987 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันขนส่งสินค้าโดยบรรทุกด้วยเรือสตุ๊ตการ์ด เอ็กเพรส จากเมืองโกเด็นเบอร์ก มายังกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกใบตราส่งซึ่งแจ้งว่าการรับมอบสินค้าให้ติดต่อจำเลยที่ 2 เนื่องจากเรือสตุ๊ตการ์ด เอ็กเพรส เป็นเรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้ามาจอดเทียบท่าเรือกรุงเทพได้ ดังนั้นเมื่อเรือเดินทางถึงท่าเรือสิงคโปร์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงร่วมกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองเรือปิยะภูมิ ขนถ่ายสินค้าลงเรือปิยะภูมิเพื่อขนส่งมายังกรุงเทพมหานครอีกทอดหนึ่ง จำเลยที่ 3ออกใบตราส่งฉบับใหม่แทนใบตราส่งเดิม เรือปิยะภูมิเดินทางมาถึงท่าเรือของบริษัทไทยพรอสเพอร์ตี้เทอมินอล จำกัด ที่จังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 3 และที่ 4ร่วมกันขนถ่ายสินค้าไปเก็บที่โรงพักสินค้า มีการสำรวจสินค้าพบว่าสินค้าเสียหาย 240 ม้วน ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 มีการขนสินค้าไปยังโรงงานของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ประเทศไทย)จำกัด โจทก์จึงให้บริษัทยูไนเต็ด เชอร์เวย์เยอร์ แอนด์ แอดจัสเตอร์สจำกัด สำรวจสินค้าอีกครั้งหนึ่ง พบว่าสินค้า 258 ม้วน หลุดลุ่ยและเปรอะเปื้อนคิดเป็นน้ำหนัก 614.04 กิโลกรัม เป็นเงิน 65,208.89บาท โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยจำนวน65,208.89 บาท เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2537 จึงรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน69,363.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน65,208.89 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า โจทก์อ้างว่าสินค้าเสียหาย614.04 กิโลกรัม หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะต้องรับผิดก็ไม่เกิน18,421.20 บาท ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน18,421.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 65,208.89 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้ากระดาษทิชชูจำนวน 840 ม้วน ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ประเทศไทย)จำกัด ไว้จำนวนเงินเอาประกันภัย 249,501.18 บาท จำเลยที่ 1ได้ขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยเรือสตุ๊ตการ์ด เอ็กเพรส จากเมืองโกเด็นเบอร์กมายังกรุงเทพมหานคร ต่อมาเรือสตุ๊ตการ์ด เอ็กเพรสได้ขนถ่ายสินค้าลงเรือปิยะภูมิที่ท่าเรือสิงคโปร์ จำเลยที่ 3เป็นผู้ครอบครองเรือปิยะภูมิและเป็นผู้ขนส่งอื่น เรือปิยะภูมิได้เดินทางต่อมาถึงท่าเรือบริษัทไทยพรอสเพอร์ตี้ เทอมินอลจังหวัดสมุทรปราการ มีการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือและสำรวจสินค้าแล้วพบว่าสินค้าเสียหายในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 1และที่ 3 โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันไปเป็นเงิน65,208.89 บาท และเข้ารับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยที่ 1และที่ 3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้เฉพาะข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ตามใบตราส่ง (Bill of Lading) เอกสารหมาย ล.10มีข้อความที่มีลักษณะเป็นข้อสงวนตามบทบัญญัติในมาตรา 23แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ว่า “เอสทีซี”(STC) ซึ่งแปลว่า “แจ้งว่าบรรจุ” อันหมายความว่า “ผู้ส่งเป็นผู้แจ้งว่ามีสินค้าบรรจุในตู้” แต่โดยความจริงผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นไม่ทราบถึงสภาพ จำนวน ลักษณะของสินค้าที่อยู่ภายในตู้ว่ามีจำนวน สภาพหรือปริมาณเท่าใด ตามเอกสารหมาย ล.10 ระบุไว้ว่าสินค้ามีจำนวน1 ตู้ ซึ่งตามนิยามของมาตรา 3 ที่ว่า “ตู้” หรือภาษาอังกฤษเขียนว่า”A CONTAINER” นั้น จึงมีความหมายเป็น “หน่วยการขนส่ง”(SHIPPING UNIT) ดังนั้น คำว่า “ตู้สินค้า” ในคดีนี้จึงเป็นหน่วยการขนส่งตามความหมายของบทมาตราดังกล่าว ไม่ใช่ม้วนสินค้าเป็นหน่วยการขนส่งดังเช่นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3ให้คำนิยาม “ภาชนะขนส่ง” หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้าหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุ หรือรองรับของหรือใช้รวมหน่วยการขนส่งหลายหน่วยเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเลและให้คำนิยาม “หน่วยการขนส่ง”หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่งและแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถังตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อันหรือหน่วยที่เรียกอย่างอื่นและมาตรา 59(1)บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการรวมของหลายหน่วย การขนส่งเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกัน ไม่ว่าจะมีการใช้ภาชนะขนส่งบรรจุหรือรองรับหรือไม่ก็ตาม ถ้าระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่งให้ถือว่าของตามใบตราส่งนั้นมีจำนวนหน่วยการขนส่งตามที่ระบุไว้นั้น แต่ถ้ามิได้ระบุ ให้ถือว่าของทั้งหมดที่รวมเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกันนั้นเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง” ดังนั้น ในการวินิจฉัยเกี่ยวกับหน่วยการขนส่งจึงต้องวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงในใบตราส่งว่าระบุจำนวนลักษณะของหน่วยการขนส่งไว้อย่างไร ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า ใบตราส่งสินค้าตามฟ้องตามเอกสารหมาย จ.2 และ ล.10 แม้จะระบุถึงการบรรจุของในตู้คอนเทนเนอร์ 1 ตู้ ก็ตาม แต่ก็ระบุว่าสินค้าของโจทก์บรรจุในกล่อง (Packages) จำนวน 7 กล่องหรือลังอันเข้าลักษณะเป็นหน่วยการขนส่งตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ดังกล่าว จึงเป็นกรณีใบตราส่งระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่งตู้สินค้า (container) จำนวน 1 ตู้ ในกรณีนี้จึงมิใช่หน่วยการขนส่งแต่อย่างใด ส่วนจำนวนม้วนนั้นเป็นเพียงลักษณะของสินค้าแต่ละชิ้นเท่านั้น มิใช่หน่วยการขนส่งเช่นกัน ดังนั้น จึงถือว่าสินค้าที่มอบให้ผู้ขนส่งทำการขนส่งทั้งหมดมีจำนวน 7 หน่วยการขนส่ง แต่สินค้าที่เสียหายปรากฏตามคำฟ้องว่ามีเพียง 2 หน่วยการขนส่งเป็นสินค้าที่เสียหาย 258 ม้วน น้ำหนัก 614.04 กิโลกรัม คิดข้อจำกัดความรับผิดตามน้ำหนักสินค้า 30 บาท ต่อ 1 กิโลกรัมได้ 18,421.20 บาท แต่คิดตามหน่วยการขนส่งได้ 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่งจากสินค้าที่เสียหาย 2 หน่วยการขนส่ง เป็นเงิน 20,000 บาทซึ่งมากกว่าข้อจำกัดความรับผิดคิดตามน้ำหนักดังกล่าว จึงถือว่ามีข้อจำกัดความรับผิด 20,000 บาท แม้สินค้าของโจทก์ที่เสียหายมีมูลค่า 65,208.89 บาท จำเลยที่ 3 ก็รับผิดจำกัดเพียง 20,000 บาทตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58วรรคหนึ่ง และมาตรา 59(1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อจำเลยที่ 3ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 20,000 บาท แล้ว แม้จำเลยที่ 1ผู้ขนส่งซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ร่วมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1ได้ด้วยเพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247″

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share