คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 957/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้เงินกันมอบที่ดินให้ผู้ให้กู้ครอบครองทำกินต่างดอกเบี้ย และตามสัญญามีเงื่อนไขด้วยว่าถ้าผู้กู้ประสงค์จะขายที่ดินที่ประกันนั้นแก่ผู้ให้กู้ภายในกำหนด 6 ปี ผู้ให้กู้ยินยอมรับซื้อเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ถ้าพ้นกำหนด 6 ปี แล้ว ผู้กู้ต้องชำระหนี้เงินกู้ให้ผู้ให้กู้จนครบถ้วน หรือมิฉะนั้นก็ต้องมีการตกลงกันใหม่ ดังนี้เมื่อพ้นกำหนด 6 ปี แล้ว ผู้กู้ไม่ประสงค์จะขายที่ดิน แต่เลือกเอาทางชำระหนี้เงินกู้ได้ ผู้ให้กู้จะฟ้องขอให้ผู้กู้ขายที่ดินให้ตนเหมือนสัญญาจะซื้อขายธรรมดา ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินของจำเลยครึ่งหนึ่งแก่โจทก์เป็นเงิน ๘๘๐ บาท โดยจำเลยตกลงขอรับเงินราคาที่ดินส่วนหนึ่งเป็นเงิน ๗๔๐ บาท และได้ทำเป็นการกู้กันไว้จะชำระเงินอีก ๑๔๐ บาท ให้จำเลยในวันที่จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิที่ดินให้โจทก์ บัดนี้จำเลยเพิกเฉยเสีย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยให้โอนที่ให้โจทก์ตามสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษายอฟ้องและให้โจทก์รับชำระหนี้ ๗๔๐ บาท จากจำเลยตามฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยขายที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญา ฯลฯ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจประชุมปรึกษาแล้ว ตามกรมธรรม์สัญญาระหว่างโจทก์จำเลย มีว่า
“ข้อ ๑ ผู้กู้ยืมได้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืมเป็นจำนวนเงิน ๗๔๐ บาท และผู้กู้ยืมได้รับเงินจำนวนนี้ไปครบถ้วนแต่วันทำหนังสือสัญญา
ข้อ ๒ ผู้กู้ยืมตกลงว่าจะใช้ต้นเงินให้แก่ผู้ให้กู้ยืมในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ หรือภายใน ๖ ปีนับแต่วันทำหนังสือสัญญานี้เป็นต้นไป
ข้อ ๔ ……..ที่ผู้กู้ยืมได้นำมาเป็นประกันแก่ผู้ให้กู้ยืมนั้น…… ผู้กู้ยืมมีความประสงค์จะแบ่งขายให้แก่ผู้ให้กู้ยืมครึ่งหนึ่ง ฯลฯ
ข้อ ๕ เมื่อครบกำหนดสัญญาตามข้อ ๒ ผู้กู้ยิมยังมิได้จัดการโอนที่ดินแปลงนี้ให้เป็นกรรมสิทธิของผู้ให้กู้ยืม ผู้กู้ยืมจะต้องชำระเงินกู้ที่กู้ยิมไปแก่ผู้ให้กู้ยิมจนหมดสิ้นหรือจะตกลงกันได้แล้วแต่กรณี ที่ดินที่ผู้กู้ยืมแบ่งขายให้แก่ผู้ให้กู้ยืมนี้ จะขายเป็นราคาทั้งสิน ๘๘๐ บาท ในวันนี้ได้รับแล้ว ๗๔๐ บาท ยังคงเหลืออีก ๑๔๐ บาท ผู้ให้กู้ยืมจะชำระเมื่อได้โอนที่ดินกันเรียบร้อยแล้วภายในกำหนดสัญญา ถ้าหากผู้กู้ยืมสามารถที่จะจัดการโอนกรรมสิทธิที่ดินให้ได้ในเวลาใดก็ดี และเมื่อได้ประพฤติตามสัญญากู้นี้ถูกต้องแล้ว สัญญานี้เป็นอันหมดอายุโดยมิต้องคำนึงถึงอายุสัญญาตามข้อ ๒”
ตามข้อสัญญาดังกล่าวนี้ สาระสำคัญอยู่ที่การกู้เงินกัน แม้จำเลยจะได้มอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองก็เป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย แต่มีเงื่อนไขตามข้อ ๔, ๕ ว่าถ้าจำเลยประสงค์จะขายให้แก่โจทก์ภายใน ๖ ปี โจทก์ยินยอมรับซื้อเป็นราคา ๘๘๐ บาท และจะชำระเงินที่ยังขาดอีก ๑๔๐ บาท เมื่อทำการโอนที่ดินกัน ถ้าพ้นกำหนด ๖ ปีแล้ว จำเลยต้องชำระเงินกู้ให้โจทก์จนครบถ้วน หรือมิฉะนั้นก็ต้องมีการตกลงกันใหม่ ไม่ใช่บังคับว่าจำเลยจะต้องขายให้โจทก์เช่นสัญญาจะซื้อขายธรรมดา
โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนด ๖ ปีแล้ว ไม่มีทางจะเอาที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิได้
จึงพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share