คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่วัดจะโอนกันได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 เท่านั้น ใครจะเอาที่วัดไปเป็นของตนไม่ได้ ไม่ว่าจะโอนไปโดยนิติกรรมหรือโดยการแย่งการครอบครอง
อำนาจที่ให้เจ้าอาวาสห้ามบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่ในวัด หรือขับไล่ให้ออกจากวัดนั้นมีอยู่ถาวร ไม่จำกัดเวลา การที่จำเลยเข้าไปพำนักอาศัยอยู่ในที่พิพาทซึ่งเป็นของวัดแม้จะช้านานเท่าใด เจ้าอาวาสก็มีอำนาจห้ามและขับไล่จำเลยได้
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์เป็นกฎหมายพิเศษซึ่งเป็นข้อยกเว้นกฎหมายทั่วไป จำเลยจึงอ้างสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปเพื่อแย่งครอบครองที่วัดหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยผู้อาศัยออกจากที่วัดพิพาท
จำเลยสู้ว่าวัดโจทก์เป็นวัดร้างไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ไม่เป็นวัด และนิติบุคคลตามกฎหมายใบมอบอำนาจใช้ไม่ได้ตามกฎหมายและที่พิพาทเป็นของจำเลยไม่ใช่ที่วัด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าโจทก์เป็นวัดชอบด้วยกฎหมาย เป็นนิติบุคคล ใบมอบอำนาจใช้ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง ที่พิพาทเป็นของวัดโจทก์จำเลยไม่มีทางได้สิทธิในที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๐๖ ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าที่พิพาทเป็นที่วัดโจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้สิทธิในที่พิพาทโดยการครอบครองนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะได้ครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาเป็นเวลาหลายปี จำเลยก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง เพราะที่วัดจะโอนกันได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ เท่านั้น ใครจะเอาที่วัดไปเป็นของตนไม่ได้ ไม่ว่าจะโอนไปโดยนิติกรรมหรือโดยการแบ่งการครอบครอง เจ้าอาวาสมีอำนาจถาวรไม่จำกัดเวลาที่จะห้ามบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่ในวัดหรือขับไล่บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทให้ออกไปจากวัดนั้นได้ จำเลยจะอ้างสิทธิแย่งครอบครองที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เป็นกฎหมายพิเศษเป็นข้อยกเว้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย.

Share