คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา172 แต่ไม่ได้ระบุมาว่า การที่จำเลยแจ้งความเท็จนั้นอาจทำให้ผู้ใดหรือประชาชนเสียหายแม้จะอ่านคำบรรยายฟ้องโดยทั่วไปก็ไม่อาจทราบความข้อนี้ได้ดังนี้ ฟ้องโจทก์ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวนั้น จึงลงโทษจำเลยไม่ได้
การช่วยผู้อื่นเพื่อไม่ให้ต้องโทษอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189 นั้น จะต้องกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งคือ 1. โดยให้ที่พัก หรือ 2. โดยซ่อนเร้น หรือ 3. โดยช่วยอย่างอื่นเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม การบรรยายฟ้องมีใจความแต่เพียงว่า จำเลยกล่าวเท็จต่อเจ้าพนักงานในเรื่องทำพินัยกรรมเพื่อช่วยเหลือพวกที่ต้องหาว่าสมคบกันทำพินัยกรรมปลอมเพื่อไม่ให้ต้องโทษและเมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วไม่อาจทราบได้ว่าโจทก์หาว่าจำเลยกระทำเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาถูกจับกุมดังนี้ เป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ความผิดตามมาตรา 189 จะลงโทษจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2505 เวลากลางวัน จำเลยได้ไปให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนในคดีอาญาเรื่องทำพินัยกรรมปลอม โดยบังอาจกล่าวเท็จว่า จำเลยได้ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมวันที่1 สิงหาคม 2505 ซึ่งเป็นข้อสารสำคัญในคดี ซึ่งความจริงจำเลยได้ลงชื่อในวันที่ 29 สิงหาคม 2505 หลังจากเจ้ามรดกตายแล้ว ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือพวกผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าสมคบกันทำพินัยกรรมปลอมเพื่อไม่ให้ต้องโทษขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 189

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษตามมาตรา 189 บทเดียว

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 และสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา158 แล้ว และการกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 นั้นจะต้องเป็นกรณีที่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายด้วย ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิด ฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่า อาจทำให้ผู้ใด หรือประชาชนเสียหาย แม้อ่านคำบรรยายฟ้องโดยทั่วไปก็ไม่อาจรู้ได้ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ไม่มีทางลงโทษตามมาตรานี้ได้

เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 นั้น เห็นว่าการช่วยผู้อื่นเพื่อไม่ให้ต้องโทษอันจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดใน 3 ประการที่ระบุไว้ คือ 1. โดยให้ที่พัก 2. โดยซ่อนเร้น3. โดยช่วยผู้อื่นเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยกล่าวเท็จต่อเจ้าพนักงานในเรื่องทำพินัยกรรม เพื่อไม่ให้ต้องโทษ เป็นการบรรยายเฉพาะองค์ความผิดที่ว่า”ช่วยผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษ”ส่วนองค์ความผิดตอนที่ว่า ช่วยโดยให้ที่พำนัก หรือซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมนั้น โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง และตามคำบรรยายฟ้องก็ไม่อาจให้รู้ได้ว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำการเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาถูกจับกุม เมื่อฟ้องขาดองค์ความผิด จึงไม่มีทางลงโทษตามมาตรานี้ได้ดุจกัน

พิพากษายืน

Share