คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 949/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (5) มิใช่หมายถึงรายจ่ายที่บริษัทได้รับประโยชน์จากรายจ่ายเท่านั้น แต่ต้องเป็นรายจ่ายที่ยังเกิดเป็นทุนรอนของบริษัทขึ้นมา ลักษณะที่จะเป็นทุนรอนของบริษัทขึ้นมาก็คือ เป็นทรัพย์สินของบริษัท รายจ่ายที่โจทก์จ่ายไปในการสร้างท่าเรือ สร้างทางแยกและสร้างถนนที่ไม่บังเกิดเป็นทุนรอนหรือทรัพย์สินของบริษัท จึงไม่ใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5)
การจ่ายบำเหน็จกรรมการของบริษัทที่กำหนดให้จ่ายได้ไม่เกิน 1 ใน 10 ของเงินปันผล หรือไม่เกินร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิแล้วแต่อย่างไหนจะน้อยกว่า และเงินรางวัลเจ้าหน้าที่ซึ่งบริษัทจะจ่ายให้เป็นรายตัวตั้งแต่ร้อยละ 0.10 ถึง 2.00 ของกำไรสุทธินั้น เป็นเงินที่กำหนดให้จ่ายโดยคำนวณจากกำไรสุทธิ แม้ไม่ได้ระบุว่าให้จ่ายจากกำไรสุทธิ ก็มีผลในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติเหมือนกับกรณีที่ระบุให้จ่ายจากเงินกำไรสุทธินั่นเอง จึงเป็นเงินรายจ่ายตามความในมาตรา 65 ตรี (19).
(ปัญหาหลังนี้ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 14/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเจ้าพนักงานของจำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๑ ไม่ถูกต้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อกรรมการอุทธรณ์ก็มีคำวินิจฉัยไม่ถูกต้องอีก จึงขอให้ศาลพิพากษาให้ยกเลิกคำวินิจฉัยและคำสั่งของจำเลยหรือลดจำนวนภาษีเงินได้ที่โจทก์ต้องเสียลงตามส่วน
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องเคลือบคลุม จำนวนภาษีที่กรรมการพิจารณาอุทธรณ์แจ้งให้โจทก์ชำระนั้นถูกต้องแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าคำสั่งเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ถึง ๔ เฉพาะที่ไม่ยอมให้หักรายจ่ายที่โจทก์ฟ้อง อันเกี่ยวกับรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนนั้นไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งในส่วนนี้เสีย ส่วนคำสั่งประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับเงินบำเหน็จกรรมการและเงินรางวัลเจ้าหน้าที่นั้นชอบแล้ว
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ เพราะเป็นเรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลยที่ ๑ โดยตรง รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ตรี (๕) มิใช่หมายถึงรายจ่ายที่บริษัทได้รับประโยชน์จากรายจ่ายเท่านั้น แต่ต้องเป็นรายจ่ายที่ยังเกิดเป็นทุนรอนของบริษัทขึ้นมา ลักษณะที่จะเป็นทุนรอนของบริษัทขึ้นมาก็คือ เป็นทรัพย์สินของบริษัท รายจ่ายที่โจทก์จ่ายไปในการสร้างท่าเรือ และสร้างทางแยกผ่านสถานีบ้านหมอและรายจ่ายในการทำถนนที่พิพาทในคดีนี้ไม่บังเกิดเป็นทุนรอนหรือทรัพย์สินของบริษัท จึงไม่ใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕)
ส่วนการจ่ายบำเหน็จกรรมการของโจทก์ที่ว่าให้จ่ายได้ไม่เกิน ๑ ใน ๑๐ ของเงินปันผลหรือไม่เกินร้อยละ ๕ ของกำไรสุทธิแล้วแต่อย่างไหนจะน้อยกว่า และเงินรางวัลเจ้าหน้าที่ซึ่งบริษัทจะจ่ายให้ในอัตราแตกต่างกันเป็นรายตัว ตั้งแต่ร้อยละ ๐.๑๐ ถึง ๒.๐๐ ของกำไรสุทธินั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๐๑ วรรค ๓ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไร ถ้าบริษัทขาดทุน ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจนกว่าจะได้แก้ไขให้หายขาดทุนเช่นนั้น” ศาลฎีกาจึงเห็นว่า เงินบำเหน็จกรรมการที่ระบุให้จ่ายไม่เกิน ๑ ใน ๑๐ ของเงินปันผล ก็ย่อมเป็นการคำนวณจากเงินผลกำไรสุทธิด้วย เพราะเงินปันผลเป็นเงินที่จ่ายจากกำไรสุทธิ ฉะนั้น ทั้งเงินบำเหน็จกรรมการและเงินรางวัลเจ้าหน้าที่กองอำนวยการจึงเป็นเงินที่กำหนดให้จ่ายโดยคำนวณจากกำไรสุทธิ และการกำหนดให้จ่ายเงินโดยคำนวณจากกำไรสุทธินั้น แม้ไม่ได้ระบุว่าให้จ่ายจากกำไรสุทธิก็มีผลในทางกฎหมาย และมีผลในทางปฏิบัติเหมือนกับกรณีที่ระบุให้จ่ายจากเงินกำไรสุทธินั่นเอง ส่วนเงินรางวัลเจ้าหน้าที่ก็เหมือนกับกรณีที่ระบุว่าจ่ายกำไรสุทธิเป็นเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ในอัตราร้อยละ ๐.๑๐ ถึง ๒.๐๐ ของกำไรสุทธิ การคำนวณเงินที่จ่ายให้แก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของบริษัทเป็นการคำนวณจากผลกำไรที่ได้เมื่อสุดรอบระยะเวลบัญชี ศาลฎีกาได้ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า เงินที่บริษัทโจทก์จ่ายในประเด็นข้อนี้เป็นเงินรายจ่ายตามความในมาตรา ๖๕ ตรี (๑๙)
พิพากษายืน.

Share