แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ อ. และ ล. ซึ่งมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ทราบเรื่องที่โจทก์ออกไปเที่ยวเตร่กับลูกค้าชาวต่างประเทศและยืมเงินจากลูกค้า แม้การกระทำของโจทก์จะไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือทำให้จำเลยเสียหาย แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ชอบที่บุคคลทั้งสองจะตำหนิโจทก์ที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวในฐานะผู้บังคับบัญชาซึ่งจะต้องปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีความประพฤติที่เหมาะสมได้ แม้บุคคลทั้งสองจะตำหนิโจทก์รุนแรงไปบ้างและกล่าวให้โจทก์พิจารณาตัวเองก็หาเป็นการข่มขู่โจทก์แต่อย่างใดไม่ ทั้งการที่ อ. และ ล. หลอกโจทก์ว่าลูกค้าแจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์ยืมเงินจากลูกค้าก็เป็นวิธีการแสวงหาข้อเท็จจริงจากโจทก์ว่า โจทก์ได้ยืมเงินจากลูกค้าจริงตามที่บุคคลทั้งสองรับทราบเรื่องหรือไม่ จึงหาเป็นการหลอกลวงให้โจทก์ลาออกไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์เลือกที่จะลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย ซึ่งเป็นการลาออกโดยความสมัครใจของโจทก์เอง หาใช่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 7,800บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 1,418.18 บาท และค่าชดเชย 15,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 14,560 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 1,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้นแต่ละจำนวนดังกล่าว และให้จ่ายค่าชดเชยจำนวน 23,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้คำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 4 กันยายน 2543 อันเป็นวันฟ้องไปจนถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งพนักงานขายหน้าร้าน โจทก์รู้จักกับลูกค้าชาวญี่ปุ่นเป็นการส่วนตัวจนมีความสนิทสนมและไปรับประทานอาหารกับลูกค้าหรือไปเที่ยวเตร่กับลูกค้านอกเวลาทำงานตลอดจนยืมเงินจากลูกค้าจำนวน 25,000 บาท โดยลูกค้าสมัครใจให้ยืม การกระทำดังกล่าวของโจทก์ยังไม่ก่อความเสียหายใดๆ ต่อจำเลย และโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลย ต่อมานายอาทิตย์ผู้จัดการฝ่ายบุคคล และนางลอร์น่าผู้จัดการฝ่ายขายปลีกของจำเลยทราบเรื่อง จึงไปพบโจทก์ซึ่งทำงานประจำอยู่ที่บริษัทจำเลย สาขาเอ็มโพเรียม เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและหลอกโจทก์ว่าลูกค้าส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งว่าโจทก์ยืมเงิน ทั้งที่ลูกค้ามิได้แจ้งเรื่องให้จำเลยทราบ นายอาทิตย์และนางลอร์น่าร่วมกันตำหนิโจทก์อย่างรุนแรงว่าสิ่งที่โจทก์กระทำเป็นพฤติกรรมไม่ดี เป็นการทำลายชื่อเสียงของบริษัทจำเลย เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและพูดว่าอาจกระทบกระเทือนต่อตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ เมื่อโจทก์ถามว่าจะให้ทำอย่างไร นายอาทิตย์ก็ว่าแล้วแต่โจทก์จะพิจารณาตัวเอง โจทก์หลงเชื่อเรื่องที่ลูกค้าชาวญี่ปุ่นแจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์ยืมเงินจากลูกค้าและกลัวว่าจะมีความผิดจึงเขียนใบลาออก เช่นนี้ เห็นว่า การที่นายอาทิตย์และนางลอร์น่าซึ่งมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ทราบเรื่องที่โจทก์ออกไปเที่ยวเตร่กับลูกค้าชาวต่างประเทศและยืมเงินจากลูกค้า แม้การกระทำของโจทก์จะไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือทำให้จำเลยเสียหาย แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ชอบที่บุคคลทั้งสองจะตำหนิโจทก์ที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวในฐานะผู้บังคับบัญชาซึ่งจะต้องปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีความประพฤติที่เหมาะสมได้ แม้บุคคลทั้งสองจะตำหนิโจทก์รุนแรงไปบ้างและกล่าวให้โจทก์พิจารณาตัวเอง ก็หาเป็นการข่มขู่โจทก์แต่อย่างใดไม่ เพราะตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์มีอายุ 24 ปี ย่อมมีวุฒิภาวะที่จะพิจารณาว่าควรจะทำอย่างไร ซึ่งหากโจทก์ตัดสินใจไม่ขอลาออกโดยจะทำงานกับจำเลยต่อไปก็ย่อมจะทำได้ ทั้งการที่นายอาทิตย์และนางลอร์น่าหลอกโจทก์ว่าลูกค้าแจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์ยืมเงินจากลูกค้าก็เป็นวิธีการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงหาเป็นการหลอกลวงให้โจทก์ลาออกไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์เลือกที่จะลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย จึงเป็นการลาออกโดยความสมัครใจของโจทก์เอง หาใช่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นๆ ของจำเลยต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.