แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก เป็นบทบัญญัติให้รับโทษหนักขึ้นแตกต่างจากความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ตลอดจนความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 295, 297, และ 391 ตามลำดับอันแสดงให้เห็นถึงกฎหมายเจตนาให้ผู้กระทำต้องรับโทษตามผลของการกระทำนั้นแตกต่างกันไปตามความหนักเบาของผลที่เกิดขึ้น เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้มีดดาบไล่ฟันผู้ตายอันเป็นการทำร้ายผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำร้ายผู้ตายซึ่งเมื่อมิใช่โดยเจตนาฆ่าแต่เป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 290 วรรคแรกแล้ว มิใช่เป็นการพยายามกระทำความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยทั้งสามกับพวกอีกสองคนที่หลบหนีร่วมกันพาอาวุธมีดยาวประมาณ 2 ฟุต จำนวน 1 เล่ม ไปที่บริเวณท่าข้ามเรือตลาดวิบูลย์ศรี ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ อันเป็นเมืองและทางสาธารณะโดยเปิดเผยและโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายนายวัชรพงศ์ กับพวก โดยร่วมกันเตะ ชก รวมทั้งใช้มีดดาบฟันนายวัชรพงศ์โดยไม่มีเจตนาฆ่า นายวัชรพงศ์เกิดความกลัวที่ถูกไล่ฟันด้วยมีดดาบจนต้องกระโดดหนีลงแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นเหตุให้จมน้ำถึงแก่ความตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290, 371, 83, 91, 33 และริบมีดดาบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางอุทัย มารดาของนายวัชรพงศ์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต (ที่ถูก ให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยมิได้มีเจตนาฆ่าเท่านั้น)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 290, 371 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จำคุก 4 ปี ฐานพาอาวุธปืน (ที่ถูก ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร) ปรับ 60 บาท รวมจำคุก 4 ปี และปรับ 60 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน และปรับ 40 บาท ริบมีดดาบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 (ที่ถูก มาตรา 290 วรรคแรก) จำเลยที่ 2 อายุ 18 ปีเศษ ยังไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จำคุก 6 ปี เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว จำคุก 4 ปี และเมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วรวมเป็นจำคุก 4 ปี และปรับ 40 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบ และจำเลยที่ 2 ไม่นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง มีคนร้ายร่วมกันใช้มีดเป็นอาวุธไล่ทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายจมน้ำถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ใช้มีดเป็นอาวุธไล่ฟันผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายปริญญา และนายณรงค์หรือโต้ง เป็นพยานเบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ที่ใช้มีดดาบฟันผู้ตาย ทำให้ผู้ตายต้องวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำไป ปัญหาว่าคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีน้ำหนักรับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นเพื่อนของผู้ตาย และร่วมอยู่ในเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ แม้ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน แต่บริเวณท่าเทียบเรืออันเป็นจุดเกิดเหตุนั้นมีหลอดไฟนีออนยาวติดตั้งอยู่ข้างละ 1 ดวง ตามภาพถ่ายหมาย จ.2 และแผนที่บริเวณที่เกิดเหตุที่โจทก์ร่วมทำขึ้นเอกสารหมาย จ.9 จึงพอมองเห็นกันได้ ภายหลังพบศพผู้ตายอีก 2 วันต่อมา พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง และเจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจสอบภาพถ่ายนักเรียนของโรงเรียนเทคโนโลยีกรุงเทพพบภาพถ่ายของจำเลยที่ 1 ซึ่งพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนึ่งในกลุ่มนักเรียนที่มีเหตุทะเลาะวิวาทกับกลุ่มของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองจนติดตามจับกุมจำเลยที่ 1 ได้และจากการจับกุมจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 พาไปจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ โดยพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ที่ใช้มีดดาบฟันผู้ตาย ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.12 บันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.17 และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.19 ทั้งนี้ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกชาตรี ผู้จับกุมจำเลยที่ 2 และพันตำรวจโทจำนงค์พนักงานสอบสวน เป็นพยานเบิกความยืนยัน โดยร้อยตำรวจเอกชาตรียังเบิกความด้วยว่า ขณะจับกุมจำเลยทั้งสามนั้น ยังยึดมีดดาบของกลางไม่ได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้พาพยานกับพวกไปยึดมีดดาบของกลางภายหลังจับกุมแล้ว คำเบิกความของร้อยตำรวจเอกชาตรี และพ้นตำรวจโทจำนงค์ จึงสนับสนุนให้คำเบิกความของนายปริญญาและนายณรงค์มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น คำเบิกความของนายปริญญาและนายณรงค์จึงรับฟังได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ใช้มีดดาบเป็นอาวุธฟันผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายหลบหนีกระโดดลงน้ำจนถึงความตาย ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ท่าเทียบเรือบริเวณที่เกิดเหตุในขณะเกิดเหตุแออัดไปด้วยผู้คนที่ขึ้นและลงเรือโดยสารเมื่อทั้งสองฝ่ายทะเลาะวิวาทชกต่อยกัน จึงเป็นเหตุการณ์ชุลมุนโกลาหลไม่น่าที่นายปริญญาและนายณรงค์จะเห็นเหตุการณ์และจำคนร้ายและมีดดาบของกลางว่าเป็นอาวุธที่คนร้ายใช้ไล่ฟันผู้ตายก็ดี หรือฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ ช่องทางสำหรับลงเรือถูกปิดจึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ตายซึ่งกำลังวิ่งหนีคนร้ายที่ใช้มีดดาบไล่ฟันจะวิ่งย้อนกลับไปหาคนร้ายที่กำลังวิ่งสวนขึ้นมา ผู้ตายควรที่จะต้องกระโดดข้ามไปยังสะพานซึ่งเป็นช่องทางขึ้นอีกฝั่งหนึ่งเสียมากกว่าอันจะเป็นการเสี่ยงอันตรายน้อยกว่าการวิ่งสวนไปพบคนร้ายที่กำลังวิ่งขึ้นมาหาผู้ตาย ซึ่งไม่น่าที่ผู้ตายจะรอดพ้นจากการถูกมีดดาบซึ่งมีความยาวถึง 2 ฟุต ฟันได้ แต่กลับไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีร่องรอยการถูกทำร้ายแต่อย่างใดก็ดีนั้น เห็นว่าแม้ข้ออ้างตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาจะเป็นเหตุผลของความเป็นไปได้ว่าผลที่เกิดขึ้นควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ไม่ใช่เป็นข้อที่ต้องฟังเป็นยุติเด็ดขาดเช่นนั้นในทุกกรณีเสียทีเดียว เมื่อคำเบิกความของนายปริญญาและนายณรงค์ไม่มีข้อพิรุธสงสัย ไม่มีเหตุที่พยานทั้งสองจะต้องเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 คำเบิกความของพยานทั้งสองย่อมรับฟังได้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า บันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.12 ก็ดี บันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.17 ก็ดี ที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.19 ก็ดี เป็นบันทึกที่ไม่ชอบ เพราะจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาและนำสืบว่าเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อโดยไม่อ่านข้อความให้ฟัง และให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าไม่มีข้อความใดๆ อันเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพโดยไม่สมัครใจนั้น เห็นว่า บันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.12 บันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.17 และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.19 คงเป็นบันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว โดยที่บันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.12 และบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เอกสารหมาย จ.16 และ จ.18 เป็นบันทึกคำให้การปฏิเสธของจำเลยที่ 1 และที่ 3 แสดงว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไปตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้ถ้อยคำเช่นนั้น จึงไม่มีเหตุอันใดที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจงใจปรักปรำจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวโดยที่ไม่ปรากฏสาเหตุอีกทั้งเมื่อร้อยตำรวจเอกชาตรี และพันตำรวจโทจำนงค์ ซึ่งเป็นผู้จับกุมและผู้สอบปากคำจำเลยที่ 2 มาเบิกความเป็นพยาน จำเลยที่ 2 ก็หาได้ถามค้านพยานทั้งสองเพื่อให้อธิบายขยายความถึงเหตุแห่งการบันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ไว้แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นมาในชั้นสืบพยานจำเลย จึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ รับฟังหักล้างไม่ได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ แม้เป็นพยานบอกเล่าก็นำมารับฟังประกอบพยานอื่นของโจทก์ได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดสำเร็จหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ไม่ปรากฏร่องรอยบาดแผลตามร่างกายของผู้ตาย แสดงว่าคนร้ายไม่มีเจตนาทำร้ายก็ดี หรือหากเป็นการกระทำความผิด ก็เพียงขั้นพยายาม ไม่ใช่ความผิดสำเร็จก็ดีนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” อันมีความหมายว่า หากผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย โดยมิได้มีเจตนาฆ่าแล้ว ผู้นั้นย่อมมีความผิดตามมาตรานี้ ซึ่งเป็นการบัญญัติให้ได้รับโทษหนักขึ้นแตกต่างจากความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น หรือความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ตลอดจนความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297, และ 391 ตามลำดับ อันแสดงให้เห็นถึงกฎหมายเจตนาให้ผู้กระทำต้องรับโทษตามผลของการกระทำนั้นแตกต่างกันไปตามความหนักเบาของผลที่เกิดขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ใช้มีดดาบเป็นอาวุธไล่ฟันผู้ตายอันเป็นการทำร้ายผู้ตายแล้ว จนเป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำร้ายผู้ตาย ซึ่งเมื่อมิใช่โดยเจตนาฆ่าแต่เป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรกแล้ว หาใช่เป็นการพยายามกระทำความผิดไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยที่ 2 สถานเบา และรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องอุกอาจ ไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย จำเลยที่ 2 ก่อเกิดเหตุขึ้นทั้งๆ ที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ อย่างไรก็ดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามและลงโทษจำคุก 6 ปี ก่อนลดโทษนั้นหนักเกินไป สมควรแก้ไขให้เหมาะสม ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ให้จำคุก 4 ปี 8 เดือน เมื่อรวมโทษในความผิดฐานพาอาวุธแล้ว คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 40 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1