แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายอันเกิดแต่เจ้ามรดกกับ ส. ส่วนผู้คัดค้านจะเป็นบุตรของเจ้ามรดกจริงหรือไม่ หากเป็นบุตรจะมีสถานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นบุตรที่บิดารับรองแล้ว เป็นเรื่องที่ศาลสามารถปรับข้อกฎหมายตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการนำสืบพยานได้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องนอกประเด็นแต่อย่างใด
แม้ผู้คัดค้านมิได้นำสืบว่า เจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับ ส. อย่างไร เมื่อใด แต่มีสูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำขึ้น ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้อง ประกอบกับผู้คัดค้านใช้ชื่อสกุลเดียวกับเจ้ามรดกและหนังสือที่เจ้ามรดกมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนที่ดินระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตร จึงเป็นหลักฐานให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คัดค้านกับเจ้ามรดก และเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์รับรองว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก ฟังได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรที่เจ้ามรดกรับรองแล้ว และถือเป็นผู้สืบสันดาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627
แม้ผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในพินัยกรรมว่าลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมมิใช่ลายมือชื่อของเจ้ามรดกจะเป็นเพียงความเห็นของเจ้าพนักงานผู้ตรวจ ซึ่งอธิบายให้เห็นว่าลายมือชื่อปัญหากับลายมือชื่อตัวอย่างมีคุณสมบัติการเขียนรูปร่างลักษณะของลายมือชื่อแตกต่างกันหลายจุดและสรุปความเห็นว่า ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลเดียวกันไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้ตรวจรู้จักหรือมีสาเหตุกับคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะมีการทำรายงานการตรวจพิสูจน์ที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ทั้งลายมือชื่อตัวอย่างลักษณะการลากเส้นของตัวอักษรที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุด โดยไม่มีสะดุด ขณะลายมือชื่อปัญหาในพินัยกรรมมีลักษณะการลากเส้นของตัวอักษรทีละตัว คล้ายการลากเส้นช้า ๆ ตามตัวอย่างทำให้น้ำหนักลายเส้นมีลักษณะแข็งไม่อ่อนพลิ้วเหมือนลายมือชื่อตัวอย่าง ทั้งผู้ร้องไม่เคยโต้แย้งเอกสารที่ผู้คัดค้านขอส่งไปตรวจพิสูจน์ เพิ่งมากล่าวอ้างโต้แย้งเอกสารหลังจากปรากฏผลการตรวจพิสูจน์แล้ว ข้ออ้างของผู้ร้องจึงไม่อาจรับฟังได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชม ผู้ตาย ซึ่งทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายเฉลิมพลหรือธนพล ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายชม ผู้ตาย ร่วมกับผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นายชม เจ้ามรดก ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 นายวัลลภ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกอ้างว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของเจ้ามรดกกับนางสุชิน และเจ้ามรดกทำพินัยกรรมลงวันที่ 27 มีนาคม 2547 ยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมานายเฉลิมพลหรือธนพล ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดกกับนางสาวสมทรง ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกตามกฎหมาย และเจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมไว้แต่อย่างใด ขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านยื่นคำร้องโดยมิได้อ้างว่าเป็นบุตรที่บิดารับรองแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรที่เจ้ามรดกรับรองแล้ว จึงเป็นเรื่องนอกประเด็น เห็นว่า ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเกิดจากมารดาชื่อนางสาวสมทรง บิดาชื่อนายชม ตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทโดยธรรมของนายชมเจ้ามรดกและเป็นพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดาของผู้ร้อง ตามคำร้องดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดกอันเกิดแต่นางสาวสมทรง ส่วนผู้คัดค้านจะเป็นบุตรของเจ้ามรดกจริงหรือไม่ หากเป็นบุตรจะมีสถานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นบุตรที่บิดารับรองแล้ว เป็นเรื่องที่ศาลสามารถปรับข้อกฎหมายตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการนำสืบพยานได้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องนอกประเด็นแต่อย่างใด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องประการต่อมาว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรที่เจ้ามรดกรับรองแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้ฝ่ายผู้คัดค้านจะมิได้นำสืบในรายละเอียดว่า เจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวสมทรงอย่างไร เมื่อใด แต่ฝ่ายผู้คัดค้านมีสูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้าน ที่ระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดกเอกสารดังกล่าว เป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำขึ้นต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้อง ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้คัดค้านใช้ชื่อสกุลเดียวกับเจ้ามรดกและยังได้ความจากหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 21 กันยายน 2547 ซึ่งผู้ร้องแถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ว่าเจ้ามรดกลงลายมือชื่อมอบอำนาจในเอกสารดังกล่าวจริง เป็นหนังสือที่นายชมเจ้ามรดกมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโฉนดที่ดิน ซึ่งนำมาทำโฉนดใหม่ และดำเนินการขายที่ดินให้แก่บริษัทผู้ซื้อในราคา 6,100,000 บาท โดยระบุในหนังสือมอบอำนาจว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรชายของเจ้ามรดก จึงเป็นหลักฐานให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คัดค้านกับเจ้ามรดกและเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์รับรองว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดกเมื่อผู้ร้องไม่สามารถนำสืบพยานหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย และพยานหลักฐานอื่นของผู้คัดค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของผู้ร้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรที่เจ้ามรดกผู้เป็นบิดารับรองแล้ว และถือว่าผู้คัดค้านเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อผู้ร้องในคดีนี้ได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องประการต่อมาว่า เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้หรือไม่ เห็นว่า แม้ผลการตรวจพิสูจน์จะเป็นเพียงความเห็นของเจ้าพนักงานผู้ตรวจ แต่เมื่อพิจารณารายงานการตรวจพิสูจน์แล้ว เจ้าพนักงานผู้ตรวจได้มีการถ่ายภาพขยายลายมือชื่อปัญหาในพินัยกรรมเปรียบเทียบกับลายมือชื่อตัวอย่างในเอกสารหลายฉบับ ที่คู่ความแถลงรับกันว่าลายมือชื่อในเอกสารตัวอย่างเป็นลายมือชื่อแท้จริงของเจ้ามรดก และอธิบายให้เห็นว่าลายมือชื่อปัญหากับลายมือชื่อตัวอย่างมีคุณสมบัติของการเขียนรูปร่างลักษณะของลายมือชื่อแตกต่างกันหลายจุดและสรุปความเห็นว่า ไม่ใช่ลายมือของบุคคลคนเดียวกันไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้ตรวจรู้จักหรือมีสาเหตุกับคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะมีการทำรายงานการตรวจพิสูจน์ที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ทั้งเมื่อศาลฎีกาได้ตรวจพิจารณาลายมือชื่อปัญหาในพินัยกรรม เปรียบเทียบกับลายมือชื่อตัวอย่างก็สามารถเห็นได้ว่า ลายมือชื่อตัวอย่างที่เจ้ามรดกลงไว้ในเอกสารต่าง ๆ หลายฉบับ แม้จะมีความแตกต่างกันในลีลาการเขียนของตัวอักษรอยู่บ้าง แต่ลายมือชื่อตัวอย่างล้วนมีลักษณะการลากเส้นของตัวอักษรที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุด โดยไม่มีการสะดุด ในขณะที่ลายมือชื่อปัญหาในพินัยกรรมจะมีลักษณะการลากเส้นของตัวอักษรทีละตัว คล้ายการลากเส้นช้า ๆ ตามตัวอย่างทำให้น้ำหนักลายเส้นของลายมือชื่อปัญหามีลักษณะแข็งไม่อ่อนพลิ้วเหมือนลายมือชื่อตัวอย่าง รายงานการตรวจพิสูจน์ของเจ้าพนักงานดังกล่าวข้างต้นจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง สำหรับเอกสารตัวอย่างที่ส่งไปตรวจเปรียบเทียบกับลายมือชื่อปัญหาในพินัยกรรมประกอบด้วยลายมือชื่อในสัญญาขายที่ดินเมื่อปี 2519 จำนวน 2 ฉบับ ลายมือชื่อในสัญญาจำนองที่ดินและหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองลงวันที่ 8 มิถุนายน 2532 จำนวน 4 ฉบับ บันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองลงวันที่ 10 ตุลาคม 2533 จำนวน 2 ฉบับ และหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 21 กันยายน 2547 แม้เอกสารส่วนใหญ่ เจ้ามรดกจะลงลายมือชื่อไว้ก่อนการทำพินัยกรรมลงวันที่ 27 มีนาคม 2547 นานหลายปี แต่ก็มีหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 21 กันยายน 2547 ที่เจ้ามรดกลงลายมือชื่อไว้ในระยะเวลาใกล้เคียงกับระยะเวลาการทำพินัยกรรมที่สามารถนำมาตรวจเปรียบเทียบกับลายมือชื่อในเอกสารปัญหาและเอกสารตัวอย่างฉบับอื่น ๆ ได้ ทั้งผู้ร้องเองไม่เคยโต้แย้งเอกสารที่ผู้คัดค้านแถลงขอส่งไปตรวจพิสูจน์ดังกล่าว เพิ่งจะมากล่าวอ้างโต้แย้งเอกสารที่ผู้คัดค้านขอส่งไปตรวจพิสูจน์หลังจากปรากฏผลการตรวจพิสูจน์แล้วข้ออ้างของผู้ร้องจึงไม่อาจรับฟังได้ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องมีประจักษ์พยานคือนายสกล กับนายบรเมศร์ เบิกความยืนยันว่า รู้เห็นเหตุการณ์ที่เจ้ามรดกลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ก็ปรากฏว่าประจักษ์พยานของผู้ร้องทั้งสองปากเบิกความถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่อ้างว่าได้รู้เห็นแตกต่างกันหลายประการ ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยเอาไว้โดยละเอียดแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก พยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของผู้ร้อง ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องทุกข้อล้วนฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้ฎีกาของผู้คัดค้านอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ