คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 930/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่รับอนุญาตและเคยถูกฟ้องศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว พ้นโทษแล้วก็ยังคงอยู่ในราชอาณาจักรตลอดมา โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่รับอนุญาตอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) และในกรณีเช่นนี้เป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่สั่งให้ส่งตัวคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 มาตรา 66

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวได้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่มีหนังสือเดินทาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๑๕,๒๑,๕๘
จำเลยให้การปฏิเสธและว่าเป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาแดงที่ ๖๔/๒๔๙๖ ทั้งคดีขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยเป็นคนต่างด้าวชาติเขมร และเคยถูกศาลลงโทษฐานเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่รับอนุญาตตามคดีแดงที่ ๖๔/๒๔๙๖ แล้วจำเลยยังคงอยู่ในประเทศไทยตลอดมาจนถูกฟ้องคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแดงดังกล่าว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยว่าเป็นฟ้องซ้ำ และคดีขาดอายุความแล้วด้วยพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องมิได้บรรยายว่าจำเลยเคยถูกเนรเทศแล้วหลบหนีเข้ามา และข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยได้ออกจากราชอาณาจักรไปแล้วหลบหนีเข้ามาอีก เมื่อจำเลยเคยถูกศาลลงโทษในคดีแดงที่ ๖๔/๒๔๙๖ ในฐานเดียวกับคดีนี้จนพ้นโทษแล้วจำเลยยังคงอยู่ในราชอาณาจักรจนถูกฟ้องคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๔) และแม้จะฟังดังโจทก์ฎีกาว่าโจทก์มุ่งฟ้องว่าจำเลยคงอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่รับอนุญาตหลังจากพ้นโทษในดคีก่อนแล้วก็ดี การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิด ดังเห็นได้จากพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๖๖ ที่บัญญัติให้เจ้าหน้าที่สั่งให้ส่งตัวจำเลยออกไปนอกราชอาณาจักร ส่วนปัญหาคดีขาดอายุความไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share