คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 922/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยในหมวดสวัสดิการ พนักงานกำหนดหลักเกณฑ์เงินสะสมไว้ว่า พนักงานที่มีอายุงาน ครบ 6 ปี จำเลยจะจ่ายเงินสมทบให้อีก 60 เปอร์เซ็นต์ของเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยเมื่อลาออกก็ตามแต่ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยมีข้อความที่แสดงเจตนารมณ์ไว้ว่า เพื่อให้พนักงานมีหลักประกันว่าจะได้รับเงินจำนวนหนึ่งเมื่อสิ้นสุดการเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยไม่ว่าเพราะลาออกหรือเกษียณอายุ ซึ่งไม่ใช่การพ้นสภาพเป็นพนักงานเนื่องจากกระทำความผิด เพื่อให้พนักงานได้รับเงินจำนวนหนึ่งคือเงินสะสมซึ่งเป็นของพนักงานเองที่จำเลยหักเก็บไว้ให้คืนพร้อมดอกเบี้ย และจำเลยจะสมทบตอบแทนให้อีกจำนวนหนึ่ง โดยคิดเป็นอัตราส่วนของเงินสะสมที่หักไว้ตามจำนวนปีที่พนักงานทำงานให้แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยของจำนวนเงินดังกล่าวด้วย และสำหรับพนักงานที่ทำงานให้แก่จำเลยยังไม่ครบ 5 ปี ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พนักงานนั้นก็ยังคงมีสิทธิได้รับแต่เพียงเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ย โดยยังไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบตามที่กำหนดไว้ ดังนี้คำว่า “จะสมทบ” ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยจึงมีความหมายเพียงบอกเวลาภายหน้าเท่าที่อายุงานของพนักงานยังไม่ครบตามหลักเกณฑ์ที่ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยกำหนดไว้เท่านั้น จำเลยจะ หยิบยกเอาคำว่า “จะสมทบ” มาแปลความหมายบิดเบือนให้ผิดแผกแตกต่างไปจากความหมายที่แท้จริงเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยว่าเป็นดุลพินิจของจำเลยที่จะจ่ายเงินสมทบให้แก่โจทก์หรือไม่จ่ายสมทบให้ก็ได้ แล้วแต่จำเลยจะพิจารณาเห็นสมควรเป็นราย ๆ ไปหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ134,925.77 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยเงินสะสมซึ่งเป็นเงินที่หักจากเงินเดือนของโจทก์จำเลยไม่ได้ประวิงการจ่าย แต่เนื่องจากจำเลยต้องตรวจสอบหนี้สินของพนักงานทุกคนที่ลาออกก่อนจึงจะจ่ายให้ ส่วนเงินสมทบ ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 9สวัสดิการพนักงาน ข้อ 2 2) – 8) นั้น กำหนดว่า พนักงานคนใดลาออก บริษัทจะพิจารณาจะสมทบให้เฉพาะข้อใดข้อหนึ่ง และเป็นดุลพินิจของจำเลยจะพิจารณาสมทบให้หรือไม่ก็ได้ตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจ ปัจจุบันจำเลยประสบภาวะการขาดทุนและการทุจริตของพนักงาน ทั้งเมื่อปี 2539พนักงานประท้วงนัดหยุดงาน เมื่อพนักงานคนใดลาออกในช่วงดังกล่าว จำเลยจะไม่พิจารณาเงินสมทบให้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 9 สวัสดิการพนักงานเกี่ยวกับเงินสะสมพนักงาน ระบุว่าพนักงานจะไม่ได้รับเงินสมทบก็ต่อเมื่อพ้นสภาพการเป็นพนักงานเพราะกระทำความผิด โดยไม่ปรากฏว่าระเบียบข้อบังคับดังกล่าวระบุไว้ว่าจำเลยจะจ่ายหรือไม่ก็ได้ตามแต่ดุลพินิจของจำเลย เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยมาเป็นเวลา 6 ปีเศษโจทก์สิ้นสุดการเป็นพนักงานของจำเลยเพราะลาออก โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยและเงินสมทบ 60 เปอร์เซ็นต์ของเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยเมื่อลาออกจำเลยต้องจ่ายเงินสะสมพร้อมเงินสมทบตามฟ้องพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน 134,925.77 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าความหมายของคำว่า “จะสมทบ” เป็นดุลพินิจของจำเลยว่าจะสมทบให้หรือไม่สมทบให้ก็ได้ แล้วแต่จำเลยพิจารณาเป็นราย ๆไปนั้น เห็นว่าแม้คำว่า “จะ” เป็นการบอกเวลาภายหน้าดังที่จำเลยอ้าง แต่ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยข้างต้นมิได้มีเพียงคำว่า “จะสมทบ” เท่านั้น หากยังมีข้อความที่แสดงเจตนารมณ์ไว้ด้วยว่า เพื่อให้พนักงานมีหลักประกันว่าจะได้รับเงินจำนวนหนึ่งเมื่อสิ้นสุดการเป็นพนักงานของบริษัทไม่ว่าเพราะลาออกหรือเกษียณอายุซึ่งไม่ใช่การพ้นสภาพเป็นพนักงานเนื่องจากกระทำความผิด บริษัทได้ตระหนักถึงความมั่นคงในอนาคตของพนักงานจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์เงินสะสมของพนักงานไว้ว่า เมื่อพนักงานมีอายุงานตั้งแต่5 ปีขึ้นไป ก็จะสมทบให้ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยเมื่อลาออก มีอายุงานครบ 6 ปี จะสมทบให้60 เปอร์เซ็นต์ ของเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ย และจะสมทบเพิ่มขึ้นตามอายุงานปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ จนครบ 100 เปอร์เซ็นต์อันแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ได้วางระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยดังกล่าวไว้ก็เพื่อที่จะให้พนักงานได้รับเงินจำนวนหนึ่งคือเงินสะสมซึ่งเป็นของพนักงานเองที่จำเลยหักเก็บไว้ให้คืนพร้อมดอกเบี้ย และจำเลยจะสมทบตอบแทนให้อีกจำนวนหนึ่ง โดยคิดเป็นอัตราส่วนของเงินสะสมที่หักไว้ตามจำนวนปีที่พนักงานทำงานให้แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยของจำนวนเงินดังกล่าวด้วย แต่พนักงานที่ทำงานให้แก่จำเลยยังไม่ครบ 5 ปี ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พนักงานก็คงมีสิทธิได้รับแต่เพียงเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ย โดยยังไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบตามที่กำหนดไว้ ฉะนั้น คำว่า “จะสมทบ”ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยจึงมีความหมายเพียงบอกเวลาภายหน้าเท่าที่อายุงานของพนักงานยังไม่ครบตามหลักเกณฑ์ที่ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยกำหนดไว้เท่านั้น จำเลยจะหยิบยกเอาคำว่า “จะสมทบ” มาแปลความหมายบิดเบือนให้ผิดแผกแตกต่างไปจากความหมายที่แท้จริงเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยว่าเป็นดุลพินิจของจำเลยที่จะจ่ายเงินสมทบให้แก่โจทก์หรือไม่จ่ายสมทบให้ก็ได้แล้วแต่จำเลยจะพิจารณาเห็นสมควรเป็นราย ๆ ไป ดังที่จำเลยอุทธรณ์หาได้ไม่
พิพากษายืน

Share