คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9204/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าฉาง ตามฟ้องจากจำเลยเพื่อเก็บข้าวเปลือกของโจทก์ โดยจำเลยรับรองว่าจะเก็บรักษาข้าวเปลือกที่โจทก์นำมาเก็บไว้ในฉาง มิให้เปลี่ยนแปลงหรือผิดไปจากสภาพเดิม ถ้าเกิดความเสียหายหรือสูญหายขึ้นจำเลยจะต้องรับผิดชอบและยินยอมใช้ราคาข้าวเปลือกที่ผิดชนิดหรือขาดจำนวนไปไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ยกเว้นข้าวเปลือกที่ยุบตัวตามสภาพไม่เกินร้อยละ 2ของจำนวนข้าวทั้งหมดหรือเกิดจากเหตุสุดวิสัยจำเลยไม่ดูแลรักษาข้าวเปลือกของโจทก์ตามสัญญา เป็นเหตุให้ข้าวเปลือกในฉาง สูญหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระราคาข้าวเปลือกดังกล่าว เห็นว่า ฟ้องโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องโดยละเอียดพร้อมกับแนบสำเนาสัญญาเช่าฉาง เอกชนสำเนาบัญชีข้าวเปลือกและราคาข้าวมาท้ายฟ้องด้วยการที่โจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าเป็นเรื่องผิดสัญญาหรือละเมิดก็ไม่ทำให้เป็นฟ้องเคลือบคลุม ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรพ.ศ. 2517 คณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อการเกษตรมีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายทั่วไปเท่านั้น ส่วนการบริหารกิจการเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการโจทก์ การฟ้องคดีเป็นกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกซึ่งผู้อำนวยการโจทก์เป็นตัวแทนของโจทก์ที่จะมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ ตามสัญญาเช่าฉาง เอกชนนอกจากเป็นสัญญาเช่าทรัพย์แล้วยังมีข้อกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่เก็บรักษาข้าวเปลือกและดูแลมิให้เกิดความเสียหายแก่ข้าวเปลือกที่เก็บรักษาไว้ในฉาง ด้วย หากเกิดความเสียหายหรือสูญหายขึ้น จำเลยต้องรับผิดชอบใช้ราคาข้าวเปลือกที่ขาดจำนวนไปให้แก่โจทก์ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์รวมอยู่ในตัวด้วยฉะนั้นจำเลยในฐานะผู้รับฝากทรัพย์ซึ่งจะต้องคืนทรัพย์ที่รับฝากไว้ให้แก่โจทก์ เมื่อทรัพย์ที่รับฝากสูญหายไปจำเลยจึงต้องใช้ราคาทรัพย์ที่รับฝากาไว้แทนตัวทรัพย์การฟ้องให้ใช้ราคาทรัพย์ในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 และไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด10 ปี ตามมาตรา 164 เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การของ รัฐบาล พ.ศ. 2496 จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517มีผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเป็นผู้บริหารกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทน โดยมีร้อยตรีประจวบ บุรพรัตน์เป็นผู้อำนวยการ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2523 โจทก์ทำสัญญาเช่าฉาง กับจำเลย 1 ฉาง ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 45 หมู่ที่ 11ตำบลโคกสลุต อำเภอท่าวุ่ง จังหวัดลพบุรี เพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาข้าวเปลือกของโจทก์ มีกำหนดเวลา 12 เดือนนับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2523 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2524จำเลยผู้ให้เช่ารับรองว่าจะเก็บรักษาข้าวเปลือกตามชนิดจำนวน น้ำหนัก มิให้เปลี่ยนแปลงหรือผิดไปจากสภาพเดิมถ้าเกิดความเสียหายหรือสูญหายขึ้นจำเลยจะต้องรับผิดชอบและยินยอมรับผิดใช้ราคาข้าวเปลือกที่ผิดชนิดหรือขาดจำนวนไปไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ยกเว้นข้าวเปลือกที่ยุบตัวตามสภาพไม่เกินร้อยละ 2 ของจำนวนข้าวทั้งหมดหรือเกิดจากเหตุสุดวิสัยต่อมาระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2523 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2523โจทก์ส่งมอบข้าวเปลือกรวมทั้งสิ้น 1,425,635.20 กิโลกรัมคิดเป็นเงิน 4,196,,786 บาท ฝากให้จำเลยเป็นผู้เก็บรักษาไว้ในฉาง ของจำเลย ต่อมาปลายปี 2524 โจทก์ตรวจพบว่าไม่มีข้าวเปลือกอยู่ในฉาง นั้นเลย จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ราคาข้าวเปลือกให้แก่โจทก์ตามสัญญา เมื่อหักการยุบตัวตามสภาพของข้าวเปลือกร้อยละ 2 ของจำนวนข้าวทั้งหมดออกแล้วจำเลยต้องใช้เงินค่าข้าวเปลือกให้แก่โจทก์ 4,110,459.07 บาทแต่เนื่องจากจำเลยมีสิทธิได้ค่าเช่าฉาง งวดที่สองจากโจทก์68,750 บาท ค่าแรงกรรมกรขนข้าวเปลือกขึ้นฉาง31,363.97 บาท หักภาษี ณ ที่จ่ายออก 1,001.14 บาทแล้วเหลือเงินที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากโจทก์ 99,112.83 บาทเมื่อหักกลบลบหนี้แล้ว จำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งหมด4,011,346.24 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2528 จนถึงวันฟ้องอีก1,786,971.83 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,798,318.07 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน4,011,346.24 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่และร้อยตรีประจวบ บุรพรัตน์ จะเป็นผู้อำนวยการโจทก์หรือไม่จำเลยไม่รับรองร้อยตรีประจวบไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์โจทก์บรรยายฟ้องสับสนไม่อาจเข้าใจได้ว่าฟ้องในมูลเช่าทรัพย์หรือมูลละเมิด เป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์เช่าฉาง จากจำเลยมีกำหนดเวลา 12 เดือน ตามฟ้องและชำระค่าเช่างวดแรกให้แก่จำเลยแล้วส่วนค่าเช่างวดที่สองโจทก์ไม่ได้ชำระให้แก่จำเลยตามกำหนด จำเลยได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ และให้โจทก์ขนย้ายข้าวเปลือกออกไป หลังจากบอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยไม่มีหน้าที่รักษาข้าวเปลือกให้โจทก์อีกและโจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยทราบว่าข้าวเปลือกของโจทก์หายไป จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อนึ่งโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ว่าข้าวเปลือกหายไปจากฉาง และภายใน 5 ปี นับแต่วันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงคดีของโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้อง โจทก์จึงต้องชำระค่าเช่างวดที่สอง 68,750 บาท และค่าแรงกรรมกรขนข้าวเปลือกขึ้นฉาง อีก 31,367.97 บาท ให้แก่จำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับโจทก์ชำระเงิน 100,113.97 บาท แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ จำเลยไม่เคยทวงถามค่าเช่าและค่าแรงกรรมกรจากโจทก์ทั้งเงินดังกล่าวโจทก์ได้หักกลบลบหนี้กับค่าข้าวเปลือกไปแล้วหลังจากสัญญาเช่าฉาง ครบกำหนดจำเลยไม่ได้ส่งมอบข้าวเปลือกให้แก่โจทก์ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาข้าวเปลือกต่อไปจนกว่าจะส่งมอบให้แก่โจทก์ ฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,011,346.24 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าฉาง ตามฟ้องจากจำเลยเพื่อเก็บข้าวเปลือกของโจทก์ หลังจากทำสัญญาแล้ว โจทก์นำข้าวเปลือกมาเก็บไว้ในฉาง และชำระค่าเช่างวดแรกให้แก่จำเลยส่งนาเช่างวดที่สอง 68,750 บาท และค่าแรงกรรมกรขนข้าวเปลือกขึ้นฉาง อีก 31,363.97 บาท ยังไม่ได้ชำระให้แก่จำเลยคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยจะต้องรับผิดใช้ราคาข้าวเปลือกให้แก่โจทก์หรือไม่และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่จำเลยให้การว่า โจทก์บรรยายฟ้องวกวนจนทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจได้ว่าโจทก์ฟ้องในมูลเช่าทรัพย์หรือมูลละเมิดจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมในข้อนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าฉาง ตามฟ้องจากจำเลยเพื่อเก็บข้าวเปลือกของโจทก์ โดยจำเลยรับรองว่าจะเก็บรักษาข้าวเปลือกที่โจทก์นำมาเก็บไว้ในฉาง มิให้เปลี่ยนแปลงหรือผิดไปจากสภาพเดิมถ้าเกิดความเสียหายหรือสูญหายขึ้นจำเลยจะต้องรับผิดชอบและยินยอมใช้ราคาข้าวเปลือกที่ผิดชนิดหรือขาดจำนวนไปไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ยกเว้นข้าวเปลือกที่ยุบตัวตามสภาพไม่เกินร้อยละ 2 ของจำนวนข้าวทั้งหมดหรือเกิดจากเหตุสุดวิสัยจำเลยไม่ดูแลรักษาข้าวเปลือกของโจทก์ตามสัญญาเป็นเหตุให้ข้าวเปลือกในฉาง สูญหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระราคาข้าวเปลือกดังกล่าว เห็นว่า ฟ้องโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องโดยละเอียดพร้อมกับแนบสำเนาสัญญาเช่าฉาง เอกชนสำเนาบัญชีข้าวเปลือกและราคาข้าวมาท้ายฟ้องด้วยการที่โจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าเป็นเรื่องผิดสัญญาหรือละเมิดก็ไม่ทำให้เป็นฟ้องเคลือบคลุมแต่อย่างใด
ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่าคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเป็นผู้แทนโจทก์ผู้อำนวยการเป็นเพียงกรรมการผู้หนึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรพ.ศ. 2517 มาตรา 20, 21 และ 22 ซึ่งไม่ได้ระบุให้เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรพ.ศ. 2517 มาตรา 20 บัญญัติว่า “ผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารกิจการของ อ.ต.ก. ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับระเบียบ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด” และมาตรา 22บัญญัติว่า “ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนของ อ.ต.ก. เพื่อการนี้ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำแทนตนเฉพาะในกิจการใดก็ได้แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้”จากบทกฎหมายดังกล่าวมาแสดงว่าคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายทั่วไปเท่านั้นส่วนการบริหารกิจการเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการโจทก์ การฟ้องคดีเป็นกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกซึ่งผู้อำนวยการโจทก์เป็นตัวแทนของโจทก์ เมื่อได้ความว่าร้อยตรีประจวบ บุรพรัตน์เป็นผู้อำนวยการโจทก์ตามสำเนาคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เอกสารหมาย จ.2 ร้อยตรีประจวบผู้อำนวยการโจทก์จึงเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดใช้ราคาข้าวเปลือกให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ข้าวเปลือกของโจทก์ในฉาง ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยได้สูญหายไปเพราะความผิดของจำเลยจำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องรับผิดใช้ราคาข้าวเปลือกให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 และว่าเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยผู้ให้เช่าผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหายจะให้จำเลยใช้ค่าเสียหายก็ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงคดีโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าฉางเอกชน เอกสารหมาย จ.6 นอกจากเป็นสัญญาเช่าทรัพย์แล้วยังมีข้อกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่เก็บรักษาข้าวเปลือกและดูแลมิให้เกิดความเสียหายแก่ข้าวเปลือกที่เก็บรักษาไว้ในฉาง ด้วยหากเกิดความเสียหายหรือสูญหายขึ้น จำเลยต้องรับผิดชอบใช้ราคาข้าวเปลือกที่ขาดจำนวนไปให้แก่โจทก์ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์รวมอยู่ในตัวด้วย ฉะนั้นจำเลยในฐานะผู้รับฝากทรัพย์ซึ่งจะต้องคืนทรัพย์ที่รับฝากไว้ให้แก่โจทก์เมื่อทรัพย์ที่รับฝากสูญหายไป จำเลยจึงต้องใช้ราคาทรัพย์ที่รับฝากไว้แทนตัวทรัพย์การฟ้องให้ใช้ราคาทรัพย์ในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671และไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความดังที่จำเลยฎีกา
ส่วนฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องแย้งที่ขอให้โจทก์ชำระค่าเช่าฉาง งวดที่สองและค่าแรงกรรมกรนั้น เห็นว่าจำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเช่าฉาง งวดที่สอง68,750 บาท และค่าแรงกรรมการอีก 31,363.97 บาทรวมเป็นเงิน 100,113.97 บาท แก่จำเลย จึงเป็นคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share