คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9196/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อค่าจ้างที่โจทก์ค้างจ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานขายตามคำสั่งของจำเลยนั้นมิได้มีค่าจ้างที่เป็นส่วนของค่าคอมมิสชันรวมอยู่ด้วย และเมื่อค่า CFI และค่า LAPSE ซึ่งเป็นค่าคอมมิสชันจ่ายล่วงหน้าสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ถูกลูกค้ายกเลิกในภายหลัง ที่โจทก์จะนำมาหักจากค่าจ้างนั้นมิใช่เงินประเภทใดประเภทหนึ่งตามมาตรา 76 (1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่จะให้นายจ้างมีสิทธินำมาหักออกจากค่าจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำค่า CFI และค่า LAPSE ดังกล่าวมาหักออกจากค่าจ้างที่ค้างจ่ายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 40/2555 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2555
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ลูกจ้างของโจทก์จำนวน 32 ราย ยื่นคำร้องต่อจำเลย ขอให้สั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดของเดือนเมษายน 2555 ซึ่งลูกจ้างบางรายได้ถอนคำร้องแล้ว คงเหลือลูกจ้างเพียง 22 ราย ต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งที่ 40/2555 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2555 สั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดแก่ลูกจ้างทั้ง 22 ราย และฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า โจทก์ยังไม่จ่ายค่าจ้างที่เป็นเงินเดือนของเดือนเมษายน 2555 ทั้งค่าจ้างที่ค้างจ่ายนั้นมิได้มีค่าคอมมิสชันรวมอยู่ด้วยเงินเดือนที่โจทก์จ่ายแก่ลูกจ้างบางรายจึงต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์จะนำเอายอดเงินของค่า CFI และค่า LAPSE ส่วนที่โจทก์คำนวณจากยอดขายประกันชีวิตที่ได้มีการยกเลิกมาหักกับค่าจ้างของเดือนเมษายน 2555 ที่โจทก์ค้างจ่ายแก่ลูกจ้างทั้ง 22 ราย หาได้ไม่ ส่วนค่าทำงานในวันหยุดที่โจทก์จ่ายให้ลูกจ้างวันละ 200 บาท นั้น ขัดต่อกฎหมายโจทก์จึงต้องจ่ายให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลย
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 40/2555 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2555 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่าค่าจ้างของเดือนเมษายน 2555 ที่โจทก์ค้างจ่ายลูกจ้างตามคำสั่งของจำเลย มิได้มีค่าจ้างที่เป็นส่วนของค่าคอมมิสชันรวมอยู่ด้วย และเมื่อค่า CFI และค่า LAPSE ที่โจทก์จะนำมาหักนั้น มิใช่เป็นเงินประเภทใดประเภทหนึ่ง ตามมาตรา 76 (1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่จะให้นายจ้างมีสิทธินำมาหักออกจากค่าจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำค่า CFI และค่า LAPSE ดังกล่าวมาหักออกจากค่าจ้างที่ค้างจ่ายได้ ที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่ลูกจ้างทั้ง 22 ราย ตามคำสั่งที่ 40/2555 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2555 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว และที่ศาลแรงงานกลางไม่เพิกถอนคำสั่งของจำเลยมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป
พิพากษายืน

Share