คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9131/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้สัญญาให้ระหว่างโจทก์ผู้ให้กับจำเลยผู้รับได้กำหนดเงื่อนไขรายละเอียดไว้ในสัญญาโดยให้จำเลยปลูกบ้านและกรีดยางพาราในที่ดินของโจทก์พร้อมทั้งให้ส่งรายได้ส่วนแบ่งให้โจทก์อันเป็นการให้โดยมีค่าภาระติดพันก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิคงมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาคือโจทก์กับจำเลยเท่านั้นไม่มีผลผูกพันผู้ร้องทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับสิทธิในที่ดินจากจำเลย เพราะไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสามได้ตกลงยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวไว้และอยู่รู้เห็นด้วยขณะทำสัญญาให้ดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อขณะจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้องที่ 3 จำเลยยังเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 บัญญัติไว้ และไม่ใช่กรณีผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินจึงมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินให้แก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 โดยให้ผู้ร้องที่ 3 เข้าครอบครองเก็บเกี่ยวทำประโยชน์ในที่ดินได้ ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสามจึงได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่ายึดถือเพื่อตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบหักล้าง ผู้ร้องทั้งสามจึงได้สิทธิครอบครองที่ดิน การครอบครองที่ดินของผู้ร้องทั้งสามจึงไม่ใช่ครอบครองที่ดินในฐานะบริวารของจำเลย

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอเพิกถอนการให้และเรียกที่ดินตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร คืนจากจำเลย และขอให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดิน ต่อมาโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าจำเลยยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม จากนั้นโจทก์ขอหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีนำประกาศไปปิดให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนด 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศ
ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 3 เป็นภริยาของจำเลยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 ผู้ร้องที่ 3 ฟ้องจำเลย ขอให้ศาลบังคับจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับผู้ร้องที่ 3 จำเลยกับผู้ร้องที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยกับผู้ร้องที่ 3 ตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน และที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน ทิศเหนือจดที่ดินนายคง ทิศใต้จดถนนสาธารณะทิศตะวันออกจดที่ดินนายณรงค์ ทิศตะวันตกจดทางสาธารณะพร้อมบ้านในที่ดิน 1 หลัง อยู่หมู่ที่ 9 ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร จำเลยยกให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ให้ผู้ร้องที่ 3 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 อาศัยอยู่ในที่ดินเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ เพื่ออุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษาบุตรทั้งสองจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม หลังจากนั้นผู้ร้องทั้งสามอยู่ในที่ดินและบ้านดังกล่าวตลอดมา ไม่มีใครคัดค้าน ผู้ร้องทั้งสามไม่ใช่บริวารของจำเลย
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทโจทก์ฟ้องเพิกถอนการให้จากจำเลยไม่ใช่ที่ดินที่จำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกให้แก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ได้ ผู้ร้องทั้งสามเป็นบริวารของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา (ที่ถูกมีคำสั่งว่า) ว่า ผู้ร้องทั้งสามไม่เป็นบริวารของจำเลยโจทก์ไม่อาจบังคับคดีขับไล่ผู้ร้องทั้งสามออกจากที่ดินพิพาท ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนผู้ร้องทั้งสาม
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางไต่สวนโจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นบิดาจำเลย โดยผู้ร้องที่ 3 เป็นภริยาจำเลย เคยจดทะเบียนสมรสกัน ปี 2538 จำเลยและผู้ร้องทั้งสามมาพักอาศัยที่บ้านของโจทก์จำเลยขอปลูกสร้างบ้านและกรีดยางพาราในที่ดินของโจทก์แปลงหนึ่งมีเนื้อที่ 20 ไร่เศษ ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับที่ดิน โจทก์ตกลงให้จำเลยตามประสงค์ทำหลักฐานเป็นหนังสือตามเอกสารหมาย ค.3 ต่อมาจำเลยไม่ส่งรายได้ส่วนแบ่ง โจทก์ทวงถามจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องจำเลยและทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ต่อมาได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปเพื่อบังคับให้ผู้ร้องทั้งสามออกจากที่ดิน แต่ผู้ร้องทั้งสามเพิกเฉย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้ร้องที่ 3 ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นอ้างว่า จำเลยเลี้ยงดูยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา และจงใจทิ้งผู้ร้องที่ 3 ไปเกินหนึ่งปี ขอให้บังคับจำเลยกับผู้ร้องที่ 3 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันและแบ่งสินสมรสให้ผู้ร้องที่ 3 และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง ผู้ร้องที่ 3 กับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันตั้งแต่วันทำสัญญายอม และที่ดินซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ 1 แปลง ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน ทิศเหนือจดที่ดินนายคง ไม่ทราบนามสกุล ทิศใต้จดถนนสาธารณะ ทิศตะวันออกจดที่ดินนายณรงค์ ไม่ทราบนามสกุล ทิศตะวันตกจดทางสาธารณะ พร้อมบ้านในที่ดิน 1 หลัง อยู่ในหมู่ที่ 9 ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร จำเลยยกให้บุตรทั้งสองคนคือ ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 และผู้ร้องที่ 3 ซึ่งเป็นมารดาบุตรทั้งสองอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวเพื่ออุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรทั้งสองจนกว่าบุตรทั้งสองจะมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ โดยในระหว่างเวลาดังกล่าวให้ผู้ร้องที่ 3 มีสิทธิเก็บกินทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อนำมาเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรทั้งสอง เมื่อบุตรทั้งสองมีอายุครบ 20 ปี ผู้ร้องที่ 3 จะส่งมอบผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่เหลืออยู่ให้แก่บุตรทั้งสอง และจำเลยจะไม่ให้หญิงอื่นหรือญาติหรือบริวารจำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครองของบุตรทั้งสอง ทั้งจำเลยจะส่งเงินเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 6,000 บาท และให้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล 1 คัน เป็นของผู้ร้องที่ 3 และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2546 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ซึ่งต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินมือเปล่า ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ถนนน้ำตกทุ่งยอ ตำบลชุมโค อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร เนื้อที่ 20 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ที่ดินพิพาทของโจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 นั้น สมบูรณ์หรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทตกอยู่ภายใต้สัญญาการให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย ค.3 นั้น เห็นว่า แม้สัญญาให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กำหนดเงื่อนไขรายละเอียดไว้ในเอกสารหมาย ค.3 อันเป็นการให้โดยมีค่าภาระติดพันก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิ คงมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาคือโจทก์กับจำเลยเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันผู้ร้องทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับสิทธิในที่ดินพิพาทจากจำเลย เพราะไม่ปรากฏว่าผูร้องทั้งสามได้ตกลงยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวไว้แต่อย่างใด ทั้งขณะทำข้อสัญญา โจทก์ก็เบิกความว่า ผู้ร้องที่ 3 ไม่ได้อยู่รู้เห็นด้วย เมื่อขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้องที่ 3 จำเลยยังเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 บัญญัติไว้ และไม่ใช่กรณีผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ร้องทั้งสามเป็นบริวารของจำเลยหรือไม่ ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้องที่ 3 จำเลยในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดังวินิจฉัยข้างต้น จึงมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 โดยให้ผู้ร้องที่ 3 เข้าครอบครองเก็บเกี่ยวทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสามจึงได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่ายึดถือเพื่อตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบหักล้าง ผู้ร้องทั้งสามจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินแปลงพิพาท นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2544 เป็นต้นมา การครอบครองที่ดินของผู้ร้องทั้งสามจึงไม่ใช่ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะบริวารของจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share