แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเพียงผู้แทนให้จำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า บี.เอ็ม.ดับบลิว ของบริษัท ม. โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องจากความผิดทางอาญาดังนั้นโจทก์จะอาศัยสิทธิตามกำหนดอายุความตามมาตรา 168 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 51 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (คืออายุความ 10 ปี) มาเป็นกำหนดอายุความไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าที่ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณในทางการค้าของโจทก์ทั้งอดีตและปัจจุบัน เป็นเงิน 200,000 บาท ค่าทำให้กิจการของโจทก์เกิดขาดทุนย่อยยับนับแต่ปี พ.ศ. 2510 ถึง พ.ศ. 2515 เป็นเงิน 800,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท และให้เสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีในจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าใช้เงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า อะไหล่รถจักรยานยนต์ บี.เอ็ม.ดับบลิวที่จำเลยจำหน่าย บางส่วนซื้อมาจากโจทก์ บางส่วนซื้อจากผู้ผลิต ศาลแขวงพระนครเหนือได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วว่าอะไหล่ที่จำเลยจำหน่ายเป็นอะไหล่ที่แท้จริงไม่ใช่ของปลอมจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทราบเรื่องละเมิดของจำเลยทั้งสองตั้งแต่เข้าไปเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7064/2510 ของศาลแขวงพระนครเหนือแล้ว โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้ในคดีอาญาศาลพิพากษาลงโทษจำเลยเสร็จเด็ดขาดฐานเอาเครื่องหมาย บี.เอ็ม.ดับบลิว มาใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 แต่บริษัทเมเยอร์ริสต์มอเตอร์เอนเวอร์ค เอ.จี ประเทศเยอรมันได้ทำสัญญาให้โจทก์เป็นเพียงผู้แทนจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า บี.เอ็ม.ดับบลิว เท่านั้น โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญา หากโจทก์จะมีการเสียหายจริงก็เป็นการเสียหายประการอื่นที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 อายุความฟ้องร้องของโจทก์ต้องบังคับตามหลักทั่วไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 เมื่อโจทก์รู้ว่าจำเลยทำละเมิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 แต่มาฟ้องเมื่อ พ.ศ. 2517 (ที่ถูกฟ้องเมื่อ พ.ศ. 2516) คดีจึงขาดอายุความแล้วพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทเมเยอร์รีสต์มอเตอร์เรนเจอร์ค เอ.จี ประเทศเยอรมันเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “บี.เอ็ม.ดับบลิว” ได้ตกลงให้โจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ บี.เอ็ม.ดับบลิว กับเครื่องอะไหล่แต่ผู้เดียวในประเทศไทย ต่อมาปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ขายเครื่องอะไหล่เครื่องหมายการค้า บี.เอ็ม.ดับบลิว ผู้ว่าคดีศาลแขวงพระนครเหนือได้ฟ้องจำเลยทั้งสองทางคดีอาญา และบริษัทเมเยอร์รีสต์มอเตอร์เรนเวอร์ค เอ.จี โดยนายสกล เตชะพูนผล (ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ในคดีนี้) ผู้รับมอบอำนาจได้เป็นโจทก์ร่วมกับผู้ว่าคดีศาลแขวงพระนครเหนือด้วย ผลของคดีที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องนั้นถึงที่สุดแล้ว โดยศาลฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองได้สั่งเครื่องอะไหล่รถจักรยานยนต์ของบริษัทเมเยอร์รีสต์มอเตอร์เรนเวอร์ค เอ.จี โจทก์ร่วมจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย ในการนี้จำเลยติดเครื่องหมาย บี.เอ็ม.ดับบลิว อันเป็นเครื่องหมายของโจทก์ร่วมไว้ที่หน้าห้างจำเลย ทั้งพิมพ์เครื่องหมายนี้ไว้ในนามบัตรของจำเลยด้วยโดยไม่มีอำนาจที่จะนำมาใช้ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นการค้าของโจทก์ร่วม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(1) ให้ปรับจำเลยคนละ 2,000 บาท ดังปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1591/2513
ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีอาญาศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาความผิดเกี่ยวกับการค้า เพราะจำเลยทั้งสองเอาเครื่องหมายการค้า บี.เอ็ม.ดับบลิว ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทเมเยอร์รีสต์มอเตอร์เรนเวอร์ค เอ.จี ไปใช้ในการประกอบการค้าของจำเลยเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นการค้าของบริษัทเมเยอร์รีสต์มอเตอร์เรนเวอร์ค เอ.จี บริษัทเมเยอร์รีสต์มอเตอร์เรนเวอร์ค เอ.จี เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า บี.เอ็ม.ดับบลิว จึงเป็นผู้เสียหาย ส่วนโจทก์เป็นเพียงผู้แทนให้จำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายดังกล่าวของบริษัทเมเยอร์รีสต์มอเตอร์เรนเวอร์ค เอ.จี เท่านั้น โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านี้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องจากความผิดทางอาญาดังกล่าวได้ ฉะนั้นโจทก์จะอาศัยสิทธิตามกำหนดอายุความในมาตรา 168 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 51 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (คืออายุความ 10 ปี) มาเป็นกำหนดอายุความหาได้ไม่
พิพากษายืน