คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9103/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.2 ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ตามฟ้องข้อ 2.1 ตัดทอนไม้ให้เปลี่ยนรูปไปจากเดิมและบรรยายฟ้องในข้อ 2.3 ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันแปรรูปไม้สักและไม้ประดู่ อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ให้เป็นแผ่น ได้ไม้สักแปรรูป 49 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.72 ลูกบาศก์เมตร และได้ไม้ประดู่แปรรูป 19 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.16 ลูกบาศก์เมตร ตามคำฟ้องดังกล่าวมีความหมายในตัวว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้สักและไม้ประดู่โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 73 วรรคสอง (1) เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและไม้ที่จำเลยที่ 1 กับพวกตั้งโรงงานเป็นไม้สัก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องลงโทษตามมาตรา 73 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 6, 7, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 13, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1), 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 14 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังไม่ได้แปรรูปไม้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่ถูกฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป) จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 18 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 ปี ริบของกลาง ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (1), 73 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันมีไม้อันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง (ที่ถูก ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เมื่อรวมโทษของจำเลยที่ 1 ทุกกระทงแล้ว เป็นจำคุก 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ต้องลงโทษตามมาตรา 73 วรรคสอง (1) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายมาในฟ้องข้อ 2.2 ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ตามฟ้องข้อ 2.1 เครื่องยนต์ต้นกำลังสำหรับการแปรรูปไม้ขนาด 13 แรงม้า 1 เครื่อง ใบเลื่อยวงเดือนเส้นผ่าศูนย์กลาง 24 นิ้ว 1 ใบ สายพาน 1 เส้น ลูกกลิ้ง 4 ตัว ค้อน 1 อัน มีดพร้า 1 เล่ม วัดระดับน้ำ 1 อัน ตลับเมตร 1 อัน ประแจเครื่องมือ 1 ชุด น้ำมันเบนซิน 2 แกลลอน เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ทำการเลื่อย ผ่า ตัดทอนไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิมโดยไม่ได้รับอนุญาตและบรรยายฟ้องต่อมาในข้อ 2.3 ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันแปรรูปไม้สักและไม้ประดู่ อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ตามฟ้องข้อ 2.1 และอุปกรณ์ตามฟ้องข้อ 2.2 เป็นเครื่องมือทำการเลื่อยไม้สักและไม้ประดู่ให้เป็นแผ่นและเหลี่ยม ได้ไม้สักแปรรูป 49 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.72 ลูกบาศก์เมตร และได้ไม้ประดู่แปรรูป 19 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.16 ลูกบาศก์เมตร ตามคำฟ้องมีความหมายอยู่ในตัวว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองกับพวกในความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้สักและไม้ประดู่ตามฟ้องข้อ 2.3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 73 วรรคสอง (1) เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและไม้ที่จำเลยที่ 1 กับพวกตั้งโรงงานแปรรูปเป็นไม้สัก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องลงโทษตามมาตรา 73 วรรคสอง (1) ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้มีกำหนด 14 ปี นั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดโทษของจำเลยที่ 1 เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง 73 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 4 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 9 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share