คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9076/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า การกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลยคดีนี้เป็นกรรมเดียวกับความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 619/2556 ของศาลชั้นต้น และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ระงับไปเพราะคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว จึงเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องย้อนไปวินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยหรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่จำเลยอ้าง อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 จำคุก 8 เดือน คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) นั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างใน
ศาลชั้นต้นว่าคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 619/2556 ของศาลชั้นต้น จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันและเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน กรณีจึงไม่มีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าการกระทำของจำเลยในข้อหาโกงเจ้าหนี้ในคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 619/2556 ของศาลชั้นต้น เป็นการกระทำกรรมเดียวกันหรือไม่ ดังนี้ แม้ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า การกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลยคดีนี้เป็นกรรมเดียวกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 619/2556 ของศาลชั้นต้น เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 619/2556 ของศาลชั้นต้นแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) จึงเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น เห็นว่า
ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องย้อนไปวินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยหรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่จำเลยอ้าง
อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาใน
ศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษายืน

Share