คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 907/2479

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รับมฤดกที่ดินแล้วปกครองร่วมกันมา ภายหลังผู้รับมฤดกคน 1 โอนส่วนได้ของตนให้แก่คนอื่นที่เป็นเจ้าของร่วมกันโดยทำหนังสือกันเองเช่นนี้ ไม่สมบูรณ์และจะนำมาใช้ยันบุคคลภายนอกมิได้ และในกรณีเช่นนี้ไม่เรียกว่าเป็นสัญญาปราณีประนอมยอมความเพราะไม่มีลักษณเพื่อระงับข้อพิพาท

ย่อยาว

จำเลยแพ้ความโจทก์ ฯ จึงนำยึดที่ดินซึ่งมีชื่อสามีจำเลยถือกรรมสิทธิ ทางพิจารณาได้ความว่าเมื่อสามีจำเลยวายชนม์แล้วจำเลยกับผู้ร้องซึ่งเป็นแม่ลูกกันได้ปกครองร่วมกันมา ครั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓ จำเลยได้ทำหนังสือยกที่ดินส่วนของจำเลยให้ผู้ร้องโดยผู้ร้องช่วยกันออกเงินรวม ๗๕๐ บาท ให้จำเลยแล้วจำเลยเช่านารายนี้ทำต่อมา
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกันว่าสัญญาที่จำเลยทำโอนที่รายพิพาทให้แก่ผู้ร้องนั้นจะใช้บังคับแก่บุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อได้แก้ทะเบียนโฉนดที่นั้นแล้ว การโอนอสังหาริมทรัพย์โดยลักษณเช่นนี้เป็นการโอนขายจำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานการโอนมฤดกส่วนได้ของตนเช่นนี้จึงเป็นโมฆะ แต่ข้อที่ศาลชั้นต้นว่าจำเลยขาดการครอบครองมาเกิน ๑ ปีนั้นศาลอุทธรณ์เห็นว่าสามีจำเลยตายมา ๑๐ ปีแล้ว จำเลยกับผู้ร้องได้ครอบครองร่วมกันมานาน จึงได้ทำสัญญาโอนและเช่ากันดังกล่าวแล้ว แม้จะฟังว่าในระหว่างจำเลยกับผู้ร้องได้สละการครอบครองให้กันก็ดี แต่ยังไม่เกิน ๑๐ ปีจึงไม่ขาดกรรมสิทธิ อายุความมฤดก ๑ ปีจะนำมาบังคับในเรื่องนี้มิได้ พิพากษาให้ยกคำร้องเสีย
ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาระวางผู้ร้องกับจำเลยนั้นเป็นสัญญาโอนกรรมสิทธิอสังหาริมทรัพย์ตาม ประมวลแพ่ง ม.๔๕๖ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ มิใช่เป็นสัญญาปราณีประนอมเพราะไม่มีลักษณเป็นการระงับข้อพิพาท ซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นตาม ม.๒๕๐ เลย ศาลฎีกาเห็นชอบด้วยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษายืนให้ยกฎีกาโจทก์

Share