แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อผู้เช่าตาย บุคคลภายนอกจะเข้ามาเป็นคู่สัญญาสืบแทนคู่สัญญาต่อไป โดยได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติ ได้ ต่อแต่เมื่อได้มีฐานะ และได้ปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 3) 2489 มาตรา 17 บัญญัติไว้ กล่าวคือ (1) เป็นบุคคลในครอบครัวของผู้เช่า (2) ได้อาศัยอยู่ในทรัพย์สินที่เช่าขณะที่ผู้เช่าตาย และ (3) ได้แจ้งความจำนงเป็นหนังสือไปยังผู้ให้เช่าภายใน30 วัน นับแต่วันผู้เช่าตาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายยกใส่ได้เช่าห้องพิพาทโดยทำสัญญากับนายฮงเฮ้าเจ้าของเดิมผู้ขายให้แก่โจทก์ ๆ ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับนายยกใส่แล้ว ต่อมานายยกใส่ตาย จำเลยกับบริวารอาศัยต่อมาเป็นเวลา 4 เดือนเศษ โดยไม่แจ้งความจำนงว่าจะเช่าต่อไปให้โจทก์ทราบ จึงไม่มีสิทธิอยู่ ขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหาย จำเลยต่อสู้เพียงข้อเดียวว่า นายยกใส่เป็นสามีจำเลย จำเลยเป็นผู้ไปขอเช่าจากนายฮงเฮ้า แต่นายยกใส่เป็นคนทำสัญญาเช่า จำเลยเป็นผู้เช่าจึงไม่ต้องแสดงความจำนงต่อผู้ให้เช่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร ยกข้อหาค่าเสียหาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อนายยกใส่เป็นคู่สัญญาในการเช่า จะถือว่าภรรยาเป็นคู่สัญญาด้วยหาได้ไม่ จำเลยเป็นบุคคลภายนอกสัญญา จะเข้ามาเป็นผู้เช่าสืบแทนคู่สัญญาต่อไปได้โดยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติได้ ก็แต่เมื่อได้มีฐานะและได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันได้บัญญัติไว้ กล่าวคือ (1) เป็นบุคคลในครอบครัวของผู้เช่า (2) ได้อาศัยอยู่ในทรัพย์สินขณะที่ผู้เช่าตาย และ (3) ได้แจ้งความจำนงจะเช่าต่อไป ไปยังผู้ให้เช่าภายใน 30 วัน นับแต่วันผู้เช่าตาย ฉะนั้นเมื่อจำเลยเป็นบุคคลนอกสัญญา มิได้แสดงความจำนงว่า จะเช่าต่อไปภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้นแล้ว จำเลยจะอ้างความคุ้มครองของพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันหาได้ไม่
พิพากษายืน