แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์จนกว่าศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 11,114,794.06 บาท จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,046,124.08 บาท และจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 4,627,116.51 บาท โดยให้รับผิดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ในต้นเงิน 7,708,016.80 บาท 1,182,243.89 บาท และ 2,673,533 บาท ตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ มิฉะนั้นให้บังคับคดีและบังคับจำนองตามฟ้อง ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์โดยอ้างว่าภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์ได้โอนสินทรัพย์รวมทั้งสิทธิเรียกร้องทั้งหมดที่มีต่อจำเลยทั้งสามในคดีนี้ให้แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2543 การโอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นไปตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 3 ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามอุทธรณ์จนกว่าศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (1) จำเลยที่ 3 จึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 3 นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.