คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8926/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ ข้อ 25 และข้อ 26 จะกำหนดให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติหรือทำงานในวันหยุดเกินเวลาปกติของวันทำงานก็ตาม แต่ข้อ 28 ก็กำหนดว่าพนักงานที่ทำงานขนส่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 25 และข้อ 26 เว้นแต่รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายประกอบกิจการงานขนส่งเดินรถโดยสารประจำทาง โจทก์เป็นพนักงานประจำรายเดือนตำแหน่งพนักงานขับรถ จึงเป็นพนักงานซึ่งทำงานขนส่ง และแม้จำเลยมีคำสั่งเกี่ยวกับเบี้ยเลี้ยงพิเศษและอัตราเงินส่วนแบ่งให้พนักงานขับรถโดยสารและพนักงานเก็บค่าโดยสารได้รับเบี้ยเลี้ยงพิเศษเนื่องจากทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง อันเป็นเวลาทำงานปกติและได้รับเงินส่วนแบ่งจากจำนวนตั๋วที่จำหน่ายได้ก็ตาม แต่คำสั่งดังกล่าวมิใช่ข้อตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานขับรถโดยสารและพนักงานเก็บค่าโดยสารโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 18ตุลาคม 2538 ทำหน้าที่พนักงานขับรถ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ6,200 บาท ระหว่างที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลย โจทก์ทำงานเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้วันละ 4 ชั่วโมง รวม 2,392 ชั่วโมง คิดเป็นเงินค่าล่วงเวลา 92,689.96 บาท จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2542 โดยกล่าวหาว่าโจทก์ขาดงาน 3 วัน จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา 92,689.96 บาทค่าชดเชย 37,200 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 9,300 บาทและค่าบำเหน็จ 18,600 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,090 บาทโจทก์กระทำผิดข้อบังคับว่าด้วยวินัยพนักงาน จำเลยจึงได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าล่วงเวลาเพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครองหรือรับรองให้ เว้นแต่จำเลยตกลงจ่ายให้ จำเลยมิได้ตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ แต่จ่ายเป็นเงินส่วนแบ่งจากเงินค่าโดยสารประจำวันเพิ่มให้โจทก์อีกจำนวนหนึ่งแทนเงินค่าล่วงเวลาซึ่งมีจำนวนสูงกว่าเงินค่าล่วงเวลาฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเงินบำเหน็จ และค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ทำงานขนส่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 11(1) และมาตรา 11 วรรคสอง ข้อ 28และจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประกอบกิจการขนส่งไม่ได้ตกลงว่าจะจ่ายค่าล่วงเวลาแก่พนักงานขับรถอันรวมถึงโจทก์ด้วย ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งรายได้จากค่าโดยสารและค่าล่วงเวลา พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือไม่ เห็นว่าแม้ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ข้อ 25 และข้อ 26 จะกำหนดให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติหรือทำงานในวันหยุดเกินเวลาปกติของวันทำงานก็ตาม แต่ข้อ 28 ก็กำหนดว่าพนักงานที่ทำงานขนส่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 25 และข้อ 26 เว้นแต่รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายประกอบกิจการงานขนส่งเดินรถโดยสารประจำทาง โจทก์เป็นพนักงานประจำรายเดือนตำแหน่งพนักงานขับรถจึงเป็นพนักงานซึ่งทำงานขนส่ง และแม้จำเลยมีคำสั่งเกี่ยวกับเบี้ยเลี้ยงพิเศษและอัตราเงินส่วนแบ่งตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ให้พนักงานขับรถโดยสารและพนักงานเก็บค่าโดยสารได้รับเบี้ยเลี้ยงพิเศษเนื่องจากทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง อันเป็นเวลาทำงานตามปกติและได้รับเงินส่วนแบ่งจากจำนวนตั๋วที่จำหน่ายได้ก็ตาม แต่คำสั่งดังกล่าวมิใช่ข้อตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานขับรถโดยสารและพนักงานเก็บค่าโดยสารโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share