คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 891/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยขายน้ำปลา 1 ขวด ที่มีป้ายแสดงราคาไว้ 9 บาท 50 สตางค์ ให้แก่ผู้เสียหายในราคา 10 บาท ตำรวจไปตรวจค้นยึดน้ำปลาของกลาง 31 ขวด ภายหลังจากการกระทำผิดเกิดขึ้นแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าของกลางเกี่ยวเนื่องกับน้ำปลา 1 ขวด ที่ขายเกินราคาควบคุม หรือได้ยึดมาเป็นของกลางรวมกับของกลาง 31 ขวด นี้ด้วยจึงยังฟังไม่ได้ว่าน้ำปลาของกลาง เป็นโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดของจำเลยอันจะต้องริบ

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 3 เดือน ปรับ 2,000 บาท ตามพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 มาตรา 9 โทษจำคุกรอไว้ 1 ปี ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนน้ำปลาของกลางแก่จำเลย โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาพิจารณาในเบื้องต้นว่า น้ำปลาของกลางจำนวน 31 ขวดตามฟ้องเป็นโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดหรือไม่ แม้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหาข้อนี้แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว เมื่อได้พิจารณาพยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับของกลางรายนี้แล้ว ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าเจ้าพนักงานตำรวจพยานโจทก์ผู้ตรวจค้นร้านจำเลย ตรวจยึดได้น้ำปลาของกลางจำนวน 31 ขวดมาจากในร้านของจำเลย โดยไม่ปรากฏว่าน้ำปลาของกลางดังกล่าวได้เกี่ยวเนื่องกับน้ำปลาจำนวน 1 ขวดที่มีป้ายแสดงราคาไว้9 บาท 50 สตางค์ แต่จำเลยได้ขายให้แก่ร้อยตำรวจเอกโสภัณธ์ ทองหาญ ผู้เสียหายพยานโจทก์ไปในราคา 10 บาท เกินกว่าราคาควบคุมนั้นแต่อย่างใดและการตรวจค้นยึดน้ำปลามาเป็นของกลางก็เป็นเวลาภายหลังจากกการกระทำผิดเกิดขึ้นแล้ว ทั้งไม่ปรากฏด้วยว่าน้ำปลาจำนวน 1 ขวดที่จำเลยขายเกินราคาควบคุมดังกล่าว เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจยึดมาเป็นของกลางรวมกับน้ำปลาจำนวน 31 ขวดของกลางรายนี้ด้วยหรือไม่ คดีตามที่โจทก์นำสืบได้ความดังกล่าวจึงยังฟังไม่ได้ว่า น้ำปลาจำนวน 31 ขวดของกลางเป็นโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดของจำเลยในคดีนี้แต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์ไม่ริบของกลางและคืนให้จำเลยนั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share