แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีฉ้อโกงทรัพย์ซึ่งมีอัตราโทษอยู่ในอำนาจศาลแขวงนั้นแม้โจทก์จะขอให้ใช้ทรัพย์ที่ฉ้อโกงเป็นราคามากมายเท่าใด ศาลแขวงก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้
คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์แยกฟ้องคดีส่วนแพ่งจากคดีส่วนอาญาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 41 นั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม มาตรา 196
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยฉ้อโกงเงิน 3,000 บาท ของนายเสาจั๊บจึงขอให้ลงโทษและคืนทรัพย์
ศาลแขวงพระนครเหนือประทับฟ้องแต่ข้อหาส่วนอาญา ส่วนคำขอที่ให้คืนทรัพย์นั้นว่า เกินอำนาจให้แยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 41 แล้วดำเนินการพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 304
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำสั่งของศาลแขวงที่ให้แยกฟ้องนั้น ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์ไม่อุทธรณ์ภายในกำหนด จึงขาดอายุอุทธรณ์ ส่วนข้อเท็จจริงพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การสั่งแยกฟ้องคดีแพ่งตาม มาตรา 41 เป็นแต่เพียงอ้างเหตุติดขัดในเรื่องอำนาจศาลเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการชี้ขาดในประเด็นสำคัญ จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม มาตรา 196 และเห็นว่า ในคดีฉ้อโกงทรัพย์นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43, 44 อนุญาตให้พนักงานอัยการขอเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียได้รวมไปกับคดีอาญา ศาลแขวงจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาได้ จึงพิพากษาแก้เฉพาะเรื่องคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ศาลแขวงพระนครเหนือพิจารณาพิพากษาคำขอโจทก์ในข้อนี้ต่อไป