คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การส่งหมายนัดโดยวิธีอื่นแทนการส่งหมายโดยวิธีธรรมดา ให้แก่คู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 79 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 นั้น ต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถส่งหมายนัดโดย วิธีธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 74 ถึง 78 แล้วการที่ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดสืบพยานจำเลยกับวันนัดฟังคำพิพากษาให้โจทก์ร่วมทราบโดยปิดประกาศไว้ที่หน้าศาลโดยมิได้ส่งหมายนัดดังกล่าวให้โจทก์ร่วมทราบโดยวิธีธรรมดาก่อนทั้ง ๆ ที่โจทก์ร่วมและทนายโจทก์ร่วมมีภูมิลำเนาปรากฏอยู่ในสำนวนอย่างชัดแจ้ง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้ทราบวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 เมษายน 2540 แล้วกรณีมีเหตุอนุญาตให้โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วันนับแต่วันยื่นคำร้องคือวันที่ 30 พฤษภาคม 2540

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ฌ-8588 กรุงเทพมหานคร โดยประมาทชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-3163 เชียงใหม่ ที่ นางทัศนีย์ ทองจิตติขับสวนทางมาอย่างแรงเป็นเหตุให้นางทัศนีย์ถึงแก่ความตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณานายวสันต์ ทองจิตติ สามีผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เท่านั้น หลังจากคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 14 มีนาคม 2540 แต่คดีอยู่ระหว่างปรึกษาองค์คณะ ศาลชั้นต้นจึงเลื่อนคดีไปนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 2 เมษายน 2540 โดยศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดแต่ละครั้งให้โจทก์ร่วมทราบโดยวิธีปิดประกาศที่หน้าศาลต่อมาวันที่ 2เมษายน 2540 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังเนื่องจากโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มาศาล
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 อ้างว่าเพิ่งทราบว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2540จึงขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน นับแต่วันยื่นคำร้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าข้ออ้างตามคำร้อง ของ โจทก์ร่วมมิใช่เหตุสุดวิสัย ไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า กรณีมีเหตุอนุญาตให้โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์หรือไม่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2539 ศาลชั้นต้นส่งประเด็นไปสืบพยานโจทก์ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ตามที่โจทก์ขอแต่โจทก์ร่วมแถลงไม่ตามประเด็นไป ศาลอาญากรุงเทพใต้สืบพยานประเด็นโจทก์แล้วส่งประเด็นคืน ศาลชั้นต้นนัดฟังประเด็นกลับตามวันเวลานัดที่ผู้แทนโจทก์และจำเลยขอและนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 11 และ 24 กุมภาพันธ์ 2540 โดยโจทก์ร่วมไม่มาศาลศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยในวันนัดดังกล่าวและคดีเสร็จการพิจารณาจึงนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 14 มีนาคม 2540 ครั้นถึงวันนัดศาลชั้นต้นยังทำคำพิพากษาไม่เสร็จจึงเลื่อนคดีไปนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 2 เมษายน 2540 ทั้งนี้ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดสืบพยานจำเลยและวันนัดฟังคำพิพากษาดังกล่าวแต่ละครั้งให้โจทก์ร่วมทราบโดยวิธีปิดประกาศที่หน้าศาล เห็นว่า การส่งหมายนัดโดยวิธีอื่นแทนการส่งหมายโดยวิธีธรรมดาให้แก่คู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้นต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถส่งหมายนัดโดยวิธีธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 74 ถึง 78 แล้วถ้ายังสามารถส่งหมายนัดให้แก่คู่ความโดยวิธีธรรมดาได้การส่งหมายนัดให้แก่คู่ความโดยวิธีอื่นตามมาตรา 79 ย่อมเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดสืบพยานจำเลยก็ดีวันนัดฟังคำพิพากษาก็ดีให้โจทก์ร่วมทราบโดยวิธีปิดประกาศที่หน้าศาล โดยไม่ได้ดำเนินการส่งหมายนัดดังกล่าวให้โจทก์ร่วมทราบโดยวิธีธรรมดาก่อน ทั้ง ๆ ที่โจทก์ร่วมและทนายโจทก์ร่วมมีภูมิลำเนาปรากฏอยู่ในสำนวนชัดแจ้ง แม้วันนัดสืบพยานประเด็นโจทก์นัดแรกที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ตัวโจทก์ร่วมไปศาลก็ตามแต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็เลื่อนคดีไปเนื่องจากไม่มีพยานโจทก์มาศาล หลังจากนั้นโจทก์ร่วมไม่ได้ไปศาลอีกกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมทราบวันนัดดังกล่าว กรณีมีเหตุอนุญาตให้โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 15 วัน ตามคำร้อง ของ โจทก์ร่วมที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้น”
พิพากษากลับ อนุญาตให้โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์ร่วมฟัง

Share