คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8829/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์และรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เมื่อรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ในความเสียหายที่โจทก์ได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และในฐานะที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกคือโจทก์ในความเสียหายที่เกิดจากรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ จำเลยที่ 4 จึงมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองกรณีเพียงฝ่ายเดียว โจทก์ไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และรับช่วงสิทธิจากโจทก์ไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ที่ทำให้รถยนต์โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้น หาได้ก่อให้เกิดภาระหนี้แก่โจทก์ไม่ เมื่อการใช้ค่าสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 4 แก่โจทก์ยังไม่เพียงพอแก่ความเสียหายที่แท้จริง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนที่ขาดจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ทำละเมิด และยังเรียกให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ภายในวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้อีกด้วย จำเลยที่ 4 จึงตกเป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนที่ขาดแก่โจทก์อีก เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่กรณีที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุประสงค์เป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระที่ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจนำเอาหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วมาหักกลบลบกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องส่วนที่ขาดอีกได้ ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีที่สิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลเดียวกันอันจะทำให้หนี้รายนั้นระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 353

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 239,603.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 227,985.97 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 151,257 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 16 กันยายน 2538 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 7,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ในความเสียหายที่โจทก์ได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และในฐานะที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกคือโจทก์ในความเสียหายที่เกิดจากรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ จำเลยที่ 4 จึงมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองกรณีเพียงฝ่ายเดียว แต่โจทก์หามีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 4 แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 4 ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยไปจำนวน 400,000 บาท และรับช่วงสิทธิจากโจทก์และมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ที่ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้น หาได้ก่อให้เกิดภาระหนี้ขึ้นแก่โจทก์ไม่ และเมื่อการใช้ค่าสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 4 แก่โจทก์ยังไม่เพียงพอกับความเสียหายที่แท้จริง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนที่ขาดจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้กระทำละเมิดและยังเรียกให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ภายในวงเงินตามสัญญาประกันภัยได้อีกด้วย จำเลยที่ 4 จึงตกเป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนที่ขาดแก่โจทก์อีก แม้ค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ยังไม่ได้รับชดใช้จะมีจำนวนน้อยกว่าค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 4 ได้รับช่วงสิทธิมาจากโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่เป็นกรณีที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระที่ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำมาหักกลบลบกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจนำเอาหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วมาหักกลบลบกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องส่วนที่ขาดอีกได้ ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีที่สิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกันอันจะทำให้หนี้รายนั้นระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 353 ดังที่จำเลยที่ 4 ฎีกา ส่วนที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในเรื่องหักกลบลบหนี้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า ในข้อนี้จำเลยที่ 4 ได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 4 รับช่วงสิทธิจากโจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และรับผิดตามสัญญาประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เมื่อหักหนี้กันแล้ว จำเลยที่ 3 ยังเป็นหนี้จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ไม่ตัองรับผิดต่อโจทก์ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 และ มาตรา 353 เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 3,000 บาท

Share