แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินฯ เป็นเพียงการกำหนดวิธีการให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบและสั่งการในกรณีที่มีการโต้แย้งสิทธิกันในการขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เท่านั้น แม้จะมีข้อกำหนดไว้ว่าเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินสั่งการอย่างไรแล้ว ให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งก็ตาม แต่ข้อกำหนดดังกล่าวคงเป็นเพียงการกำหนดขั้นตอนเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินปฏิบัติภายหลังจากที่ได้สั่งการไปแล้ว คือหากมีการฟ้องคดีต่อศาลก็ให้เจ้าพนักงานที่ดินรอเรื่องไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดประการใดก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น ถ้าไม่ฟ้องภายในกำหนดก็ให้ดำเนินการไปตามที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสั่งหาใช่เป็นเงื่อนไขในการฟ้องคดีต่อศาลไม่ ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้ห้ามมิให้ฟ้องคดีหากมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ดังที่บัญญัติห้ามไว้ในกฎหมายอื่นดังนั้น เมื่อโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินมือเปล่า 1 แปลงเมื่อต้นปี 2542 ทางราชการได้ประกาศเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน โจทก์ได้ยื่นคำขอให้เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์ ซึ่งทางราชการได้ดำเนินการตามคำขอของโจทก์จนเสร็จและเตรียมที่จะออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าจำเลยได้มีหนังสือแจ้งคณะกรรมการขอให้ระงับการออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โดยอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์คณะกรรมการจึงได้แจ้งต่อโจทก์ว่าต้องให้จำเลยผู้คัดค้านไปเพิกถอนคำคัดค้านเสียก่อนจึงจะพิจารณาออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ต่อไปได้ โจทก์ได้พยายามติดต่อจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมดำเนินการใด ๆขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามฟ้องห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง และให้จำเลยไปดำเนินการเพิกถอนหนังสือคัดค้านการขอออกโฉนด หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 หากมีผู้โต้แย้งสิทธิในการออกโฉนดที่ดินและไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาพิจารณาสั่ง และหากคู่กรณีไม่พอใจคำสั่งดังกล่าวให้ฟ้องต่อศาลภายใน60 วัน แต่ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดมีคำสั่งในเรื่องที่จำเลยมาคัดค้านการออกโฉนดที่ดินอย่างไร เพียงแต่บรรยายว่าคณะกรรมการสำรวจออกโฉนดระงับการออกโฉนดที่ดินของโจทก์กรณีจึงยังไม่ครบตามเงื่อนไขที่จะฟ้องคดีต่อศาล ถือได้ว่ายังไม่มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “บทบัญญัติในมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเพียงการกำหนดวิธีการให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบและสั่งการในกรณีที่มีการโต้แย้งสิทธิกันในการขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เท่านั้น แม้จะมีข้อกำหนดไว้ว่าเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินสั่งการอย่างไรแล้วให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งก็ตาม แต่ข้อกำหนดดังกล่าวคงเป็นเพียงการกำหนดขั้นตอนเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินปฏิบัติภายหลังจากที่ได้สั่งการไปแล้ว คือหากมีการฟ้องคดีต่อศาลก็ให้เจ้าพนักงานที่ดินรอเรื่องไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดประการใดก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น ถ้าไม่ฟ้องภายในกำหนดก็ให้ดำเนินการไปตามที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาสั่งแล้วแต่กรณี หาใช่เป็นเงื่อนไขในการฟ้องคดีต่อศาลไม่ ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้ห้ามมิให้ฟ้องคดีหากมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ดังที่บัญญัติห้ามไว้ในกฎหมายอื่น ดังนั้น เมื่อโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป