แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์กับจำเลยยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่เจ้าพนักงานออกให้แก่จำเลยเป็นสิทธิบัตรที่สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรฯ หรือไม่ และการกระทำของโจทก์ เป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยผู้ทรงสิทธิบัตรหรือไม่ การที่จำเลยนำ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปยึดวัสดุรับแรงกระแทกที่โจทก์นำมาใช้งาน ตลอดมา ทั้ง ๆ ที่เจ้าพนักงานตำรวจ ก็ได้ยึดวัสดุรองรับแรงกระแทก ไปเป็นพยานหลักฐานบ้างแล้ว ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยจะกระทำซ้ำ หรือกระทำต่อไปอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ ถ้าหากข้อเท็จจริง ได้ความเป็นที่ยุติว่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยเป็นสิทธิบัตรที่ ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือโจทก์มิได้ละเมิดสิทธิของจำเลยดังกล่าว โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายดังที่โจทก์บรรยายมาในคำขอคุ้มครองชั่วคราว ระหว่างพิจารณา โจทก์จึงชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจค้น และยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกของโจทก์ในสถานที่ก่อสร้างได้ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฯ มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255(2)
แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินคดีอาญาข้อหาละเมิดสิทธิบัตรเพื่อนำชี้ให้ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทก ของโจทก์นั้น อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่าศาลมีคำสั่งห้าม จำเลยไม่ให้ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ ซึ่งสิทธิในการดำเนินคดีข้อหา ดังกล่าวยังคงเป็นสิทธิของจำเลยตราบเท่าที่สิทธิบัตรของจำเลย ยังไม่ถูกเพิกถอน จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่าไม่ห้ามจำเลย ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ในข้อหาดังกล่าว แต่ห้ามชั่วคราวมิให้จำเลย นำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปทำการตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทก ของโจทก์ในสถานที่ก่อสร้างก่อนพิพากษาคดีนี้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของจำเลยตามคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 044704 ทะเบียนเลขที่ 9433 ซึ่งเป็นสิทธิบัตรที่ออกให้แก่จำเลยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการประดิษฐ์ดังกล่าวมิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ไม่ใช่การประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมได้ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอให้จำเลยหยุดถือสิทธิหรือห้ามจำเลยใช้หรือแอบอ้างสิทธิบัตรดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการประกาศโฆษณาเผยแพร่หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้สาธารณชนหลงผิดว่าจำเลยพึงได้รับสิทธิบัตรนั้น รวมทั้งห้ามจำเลยสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่โจทก์ โดยการเข้าไปหรือนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มในบริเวณก่อสร้างที่โจทก์รับเหมาตอกเสาเข็มหรือในบริเวณที่ทำการของโจทก์ในระหว่างพิจารณาคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ให้จำเลยหยุดใส่ความโจทก์ต่อสาธารณะชนว่าละเมิดสิทธิบัตรไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในระหว่างพิจารณาคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิบัตรเลขที่ 9433 ไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีนี้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดโดยให้แจ้งคำสั่งไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้นและให้จำเลยประกาศโฆษณาคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรทะเบียนเลขที่ 9433 ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเดลินิวส์หรืออื่น ๆ ที่จำหน่ายทั่วราชอาณาจักรไม่น้อยกว่า 2 ฉบับ โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือมิฉะนั้นกำหนดให้โจทก์ลงประกาศโฆษณาแทนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาว่าการที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มโดยไม่ชอบดังฟ้องนั้น จำเลยใช้สิทธิอันเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ด้วยการไปร้องทุกข์ต่อสำนักงานสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจกล่าวหาว่าโจทก์ละเมิดสิทธิบัตรของจำเลยซึ่งเป็นความเท็จ นอกจากนี้จำเลยได้นำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปในสถานที่ก่อสร้างที่โจทก์รับเหมาตอกเสาเข็มคือ โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินเฉลิมรัชมงคล โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 บริเวณแยกเกษตร- ถนนนวมินทร์โครงการอาคารกลุ่มทางสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตทำการตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มไปจำนวนมากรวมทั้งข่มขู่คนงานของโจทก์ไม่ให้ตอกเสาเข็มและข่มขู่ผู้ว่าจ้างโจทก์มิให้ว่าจ้างโจทก์ทำงาน อันทำให้การทำงานของโจทก์ที่ได้รับเหมาตอกเสาเข็มต้องหยุดชะงัก ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างมาก เพราะโจทก์ต้องถูกผู้ว่าจ้างปรับเป็นรายวัน โดยปัจจุบันโจทก์ต้องว่าจ้างผู้อื่นมาตอกเสาเข็มแทน ทำให้ต้นทุนสูงกว่าปกติ ด้วยจำเลยขู่ว่าจะนำเจ้าพนักงานตำรวจมาจับเป็นรายวัน อันเป็นการกระทำละเมิดต่อเนื่องและเป็นการใช้สิทธิโดยกลั่นแกล้งโจทก์อย่างปราศจากเหตุผล ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งห้ามชั่วคราวระหว่างพิจารณาให้จำเลยหยุดถือสิทธิหรือใช้สิทธิหรือแอบอ้างสิทธิตามสิทธิบัตรที่ได้รับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) และขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิบัตรของจำเลยไว้ชั่วคราวตามมาตรา 254(3) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของโจทก์ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนั้นและยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องให้ลดลง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยตามคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 044704 ทะเบียนเลขที่ 9433เพื่อนำชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์ แต่ไม่ห้ามที่จะแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์เพื่อประโยชน์ในเรื่องอายุความแห่งคดีและให้โจทก์จัดทำบัญชีรายละเอียดการใช้วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์ที่จำเลยอ้างว่าละเมิดสิทธิบัตรพร้อมเอกสารหลักฐานที่ยืนยันข้อมูลตามบัญชีต่อศาลทุกเดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2543 เป็นต้นไป จนกว่าคำสั่งวิธีการชั่วคราวจะถูกยกเลิก ทั้งยังได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาให้โจทก์วางเงินประกันเป็นจำนวน 800,000 บาท ด้วย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ได้ความในทางไต่สวนชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์รับเหมาตอกเสาเข็มจากผู้ว่าจ้างในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินเฉลิมรัชมงคลโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 บริเวณแยกเกษตร-ถนนนวมินทร์ โครงการอาคารกลุ่มทางสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งในการตอกเสาเข็มนั้นต้องมีวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มเป็นตัวช่วยในการตอกเสาเข็มด้วย ส่วนจำเลยเป็นผู้ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็ม ตามสิทธิบัตรทะเบียนเลขที่ 9433 ซึ่งเจ้าพนักงานออกให้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 โดยจำเลยได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ตามสำเนาสิทธิบัตรเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2543 จำเลยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่านายอนันต์ชัย ไชยวงศ์ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยละเมิดสิทธิบัตรของจำเลยในวันที่ 23 มีนาคม 2543 จำเลยได้นำเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นสถานที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเฉลิมรัชมงคลที่โจทก์รับเหมาตอกเสาเข็มและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มนำมาตรวจสอบ วันที่ 29 พฤษภาคม 2543จำเลยไปแจ้งความที่สำนักงานสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรของจำเลย วันที่ 30 พฤษภาคม 2543 จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจสถานที่ก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 บริเวณแยกเกษตร-ถนนนวมินทร์ ที่โจทก์รับเหมาตอกเสาเข็มและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็ม วันที่ 31 พฤษภาคม 2543 จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจสถานที่ก่อสร้างกลุ่มอาคารเรียนทางสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่โจทก์รับเหมาตอกเสาเข็มและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็ม วันที่ 5 มิถุนายน 2543 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้และวันที่ 7 มิถุนายน 2543 จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจค้นสถานที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเฉลิมรัชมงคลและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็ม
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในชั้นนี้ว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวแก่โจทก์ก่อนมีคำพิพากษาเป็นการชอบหรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่เจ้าพนักงานออกให้แก่ จำเลยโดยอ้างว่าสิทธิบัตรนั้นได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 5กล่าวคือ การประดิษฐ์ดังกล่าวมิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ไม่เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมได้ สิทธิบัตรของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยต่อศาลขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 54 และโจทก์อ้างในคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาว่า การที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรดังกล่าวโดยไม่ชอบนั้น จำเลยใช้สิทธิอันเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ด้วยการไปร้องทุกข์ต่อสำนักงานสืบสวนคดีเศรษฐกิจกล่าวหาว่าโจทก์ละเมิดสิทธิบัตรของจำเลยซึ่งเป็นความเท็จ จำเลยได้นำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปในสถานที่ก่อสร้างที่โจทก์รับเหมาตอกเสาเข็มคือโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินเฉลิมรัชมงคล โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 บริเวณแยกเกษตร ถนนนวมินทร์ และโครงการอาคารกลุ่มทางสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทำการตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์ กับข่มขู่คนงานของโจทก์ไม่ให้ตอกเสาเข็มและผู้ว่าจ้างโจทก์มิให้ว่าจ้างโจทก์ทำงาน อันทำให้การทำงานของโจทก์ทีได้รับเหมาตอกเสาเข็มต้องหยุดชะงัก โจทก์ต้องถูกผู้ว่าจ้างปรับเป็นรายวันและต้องว่าจ้างผู้อื่นมาตอกเสาเข็มแทน ทำให้ต้นทุนสูงกว่าปกติ จำเลยขู่ว่าจะนำเจ้าพนักงานตำรวจมาจับเป็นรายวันอันเป็นการกระทำละเมิดต่อเนื่องและเป็นการใช้สิทธิโดยกลั่นแกล้งโจทก์อย่างปราศจากเหตุผล เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามทางไต่สวนข้างต้นว่า จำเลยได้นำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปในสถานที่ที่โจทก์รับเหมาตอกเสาเข็มทั้งสามแห่งดังกล่าวและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์ก่อนโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ และหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยก็ยังนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจค้นสถานที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเฉลิมรัชมงคลและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์อีก ประกอบกับทางไต่สวนยังได้ความด้วยว่าวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามสิทธิบัตรของจำเลยกับของโจทก์ที่ใช้อยู่มีลักษณะที่ไม่เหมือนกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเนื้อไม้ จำนวนชิ้นของวงแหวนและจำนวนชั้น เช่นนี้ กรณีระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มทะเบียนเลขที่ 9433 ที่เจ้าพนักงานออกให้แก่จำเลยเป็นสิทธิบัตรที่สมบูรณ์ อันทำให้จำเลยมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขายเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 36 หรือไม่ และการกระทำของโจทก์เป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยผู้ทรงสิทธิบัตรดังกล่าวหรือไม่ เมื่อโจทก์กับจำเลยยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ดังกล่าว การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่โจทก์นำมาใช้งานตลอดมา ทั้ง ๆ ที่เจ้าพนักงานตำรวจก็ได้ยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มไปเป็นพยานหลักฐานบ้างแล้ว ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยจะกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ถ้าผลสุดท้ายหากข้อเท็จจริงได้ความว่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มทะเบียนเลขที่ 9433 ของจำเลย เป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือโจทก์มิได้ละเมิดสิทธิของจำเลยตามสิทธิบัตรดังกล่าวโจทก์ย่อมได้รับความเสียหายดังที่โจทก์บรรยายมาในคำขอคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณา โจทก์จึงชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์ในสถานที่ก่อสร้างที่โจทก์รับเหมาตอกเสาเข็มทั้งสามแห่งก่อนพิพากษาคดีนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255(2) อย่างไรก็ดี ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรของจำเลยเพื่อนำชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์นั้น อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่าศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยไม่ให้ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรของจำเลยได้ทั้ง ๆ ที่สิทธิบัตรของจำเลยดังกล่าวยังไม่ถูกเพิกถอน ซึ่งสิทธิในการดำเนินคดีต่อโจทก์ในข้อหาดังกล่าวยังคงเป็นสิทธิของจำเลยตราบเท่าที่สิทธิบัตรของจำเลยยังไม่ถูกเพิกถอน และศาลไม่อาจห้ามการกระทำใด ๆ ในการดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ที่จำเลยได้ดำเนินการไปแล้วได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรแก้ไขในส่วนนี้เสียให้ถูกต้องเป็นว่าไม่ห้ามจำเลยดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ในข้อหาละเมิดสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทะเบียนเลขที่ 9433 ของจำเลย แต่ห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปทำการตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์ในสถานที่ก่อสร้างที่โจทก์รับเหมาก่อสร้างทั้งสามแห่งก่อนพิพากษาคดีนี้
ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้โจทก์จัดทำบัญชีรายละเอียดการใช้วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์พร้อมเอกสารหลักฐานที่ยืนยันข้อมูลตามบัญชีต่อศาลทุกเดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคมศกนี้ (2543) เป็นต้นไปจนกว่าคำสั่งวิธีการชั่วคราวจะถูกยกเลิกเป็นการไม่ชอบเพราะจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ใช้วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มมาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2543 แล้ว มิใช่เพิ่งจะใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2543 แต่อย่างใด โจทก์จึงควรที่จะส่งบัญชีการใช้วัสดุดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2543 ตลอดเวลาที่โจทก์ใช้วัสดุดังกล่าวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง และที่ให้โจทก์วางประกันค่าเสียหายจำนวน800,000 บาท ก็เป็นจำนวนที่น้อยไป ไม่คุ้มค่าเสียหายที่จำเลยได้รับจากการที่โจทก์ละเมิดสิทธิตามสิทธิบัตรของจำเลย ควรจะให้โจทก์วางประกันค่าเสียหายจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000,000 บาทนั้น เห็นว่า ปัญหาว่าโจทก์ได้ละเมิดสิทธิตามสิทธิบัตรของจำเลยและจำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใดนั้น หากมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับการที่โจทก์ละเมิดสิทธิตามสิทธิบัตรของจำเลยแล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่จำเลยจะต้องพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของจำเลยในการฟ้องร้องกันในเรื่องนั้นหรือได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายเข้ามาในคดีนี้แต่สำหรับคดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์มิได้ละเมิดสิทธิตามสิทธิบัตรของจำเลยกับ ขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรที่จำเลยได้รับมาโดยมิชอบ และอ้างว่าจำเลยทำละเมิดโดยเข้าไปรบกวนการทำงานของโจทก์ที่ใช้วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มและขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยให้สั่งห้ามจำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปทำการตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์ ดังนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าจำเลยอาจได้รับความเสียหายในอนาคตจากการขอให้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาของโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายที่ละเมิดสิทธิตามสิทธิบัตรของจำเลย จึงให้โจทก์ทำบัญชีการใช้วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์เสนอศาลนับแต่เดือนสิงหาคม 2543อันเป็นเดือนที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว และให้โจทก์วางเงินประกันต่อศาลนั้น ย่อมเห็นได้ว่าเป็นคำสั่งเพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่จำเลยในกรณีที่ปรากฏต่อมาภายหลังว่าสิทธิบัตรของจำเลยเป็นสิทธิบัตรที่สมบูรณ์ และโจทก์ได้กระทำละเมิดต่อสิทธิตามสิทธิบัตรของจำเลย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งดังกล่าวไปจึงเป็นการชอบแล้ว ส่วนเงินวางประกันความเสียหายจำนวน 800,000 บาท นั้นก็เป็นค่าเสียหายเบื้องต้นที่คาดว่าจำเลยจะได้รับจากการที่โจทก์ขอใช้วิธีการคุ้มครองก่อนพิพากษาเท่านั้น หากจำเลยได้รับความเสียหายจริงจากการที่โจทก์ละเมิดสิทธิตามสิทธิบัตรของจำเลยดังเช่นจำเลยอ้างเป็นจำนวนเพียงใด จำเลยก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้ไม่ได้ทำให้จำเลยต้องเสียสิทธิใด ๆ ในการเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวแต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้โจทก์จัดทำบัญชีการใช้วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2543 โดยให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 800,000 บาทนั้น จึงเป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ห้ามจำเลยดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ในข้อหาละเมิดสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทะเบียนเลขที่ 9433 ของจำเลย แต่ห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปทำการตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์ในสถานที่ก่อสร้างที่โจทก์รับเหมาตอกเสาเข็มคือโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินเฉลิมรัชมงคล โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 บริเวณแยกเกษตร-ถนนนวมินทร์ และโครงการอาคารกลุ่มทางสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง