แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
++ เรื่อง ปล้นทรัพย์ ++
คนร้ายที่ใช้กำลังประทุษร้ายและเอาทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองไปมีเพียง 2 คน เท่านั้นคือจำเลยกับ ส. ส่วนคนร้ายที่เหลืออีก 1 คน คือ ป.นั้นคงยืนเฉย ๆ มิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือจำเลยกับ ส. และพฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้นก็เนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์แซงรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับ แล้วจำเลยก็ขับแซงขึ้นไปจึงเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดโดยมิได้คบคิดกันมาก่อน เป็นเรื่องเฉพาะตัว จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี เท่านั้น
ความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องรวมความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วยศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคท้าย
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ แต่ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 339วรรคหนึ่ง, 340 ตรี จึงไม่ถูกต้อง สมควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นจำเลยมีความผิดตามป.อ.มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี และศาลฎีกามีอำนาจเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ เพราะโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์ซึ่งมีโทษหนักขึ้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๘ เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๑๑๖/๒๕๓๘ ของศาลชั้นต้น ได้ร่วมกันปล้นทรัพย์เอาเงินจำนวน ๔๐ บาท กับรองเท้า ๑ คู่ ราคา ๔๕๐ บาท ของนายเอกชัยศรีสุข ผู้เสียหายที่ ๑ และเงินจำนวน ๔๐ บาท กับรองเท้า ๑ คู่ ราคา ๔๕๐ บาทของนายพงษ์ธิวัฒน์หรือพงษ์ธิวัติ พันธ์วิไล ผู้เสียหายที่ ๒ ไป การปล้นทรัพย์ดังกล่าวจำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ศรีสะเกษ ง – ๔๘๖๓ เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด พาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๘๓ และให้จำเลยกับพวกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๑๑๖/๒๕๓๘ คืนหรือใช้เงิน ๘๐ บาทกับรองเท้า ๒ คู่ ราคา ๙๐๐ บาท ให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา ๓๔๐ ตรี, ๘๓ ลงโทษจำคุก ๑๕ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๘๐ บาท กับคืนหรือใช้ราคารองเท้า ๒ คู่ ราคา ๙๐๐ บาทให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรคหนึ่ง, ๓๔๐ ตรี ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ แล้ว คงจำคุก ๓ ปี ๙ เดือนยกฟ้องข้อหาปล้นทรัพย์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ขณะที่ผู้เสียหายที่ ๑ ขับรถจักรยานยนต์โดยมีผู้เสียหายที่ ๒ นั่งซ้อนท้ายมาถึงบริเวณต้นโพธิ์หน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ จำเลยขับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งมีนายสิทธิชัยและนายประยูรนั่งซ้อนท้ายตามหลังและมาเทียบรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายที่ ๑ ขับ จำเลยใช้มือดึงแฮนด์รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายที่ ๑ ขับ เมื่อรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ ๑ และจำเลยหยุด จำเลยตรงเข้าไปหาผู้เสียหายที่ ๒ และถามว่า ขอเงินใช้หน่อย ผู้เสียหายที่ ๒ ตอบว่าไม่มี จำเลยจึงตบหน้าผู้เสียหายที่ ๒ หนึ่งครั้ง แล้วล้วงเอาเงินในกระเป๋าเสื้อของผู้เสียหายที่ ๒จำนวน ๔๐ บาท และรองเท้าแตะ ๑ คู่ ราคา ๔๕๐ บาท ของผู้เสียหายที่ ๒ ไปนายสิทธิชัยเข้าไปหาผู้เสียหายที่ ๑ และถามว่ามีเงินหรือไม่ ผู้เสียหายที่ ๑ ตอบว่าไม่มี นายสิทธิชัยจึงตบหน้าผู้เสียหายที่ ๑ หนึ่งครั้ง แล้วล้วงเอาเงินในกระเป๋ากางเกงจำนวน ๔๐ บาท และรองเท้าแตะ ๑ คู่ ราคา ๔๕๐ บาท ของผู้เสียหายที่ ๑ ไปส่วนนายประยูรยืนอยู่ที่ข้างรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับ แล้วจำเลยเข้าไปดึงเอากุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ ๑ ไป นายสิทธิชัยใช้เท้าถีบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ ๑ ล้มลง ต่อจากนั้นจำเลย นายสิทธิชัยและนายประยูรขึ้นรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับหลบหนีไปด้วยกัน ๆ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจำเลยกับพวกอีก ๒ คน จะร่วมนั่งรถจักรยานยนต์คันเดียวกันไปที่เกิดเหตุด้วยกัน แต่ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นประจักษ์พยานต่างเบิกความยืนยันว่าคนร้ายที่ใช้กำลังประทุษร้ายและเอาทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองไปมีเพียง ๒ คนเท่านั้นคือจำเลยกับนายสิทธิชัย ส่วนคนร้ายที่เหลืออีก ๑ คน คือนายประยูรนั้น ผู้เสียหายที่ ๑เบิกความว่า นายประยูรยืนอยู่ที่รถจักรยานยนต์ที่นั่งซ้อนท้ายเท่านั้น ผู้เสียหายที่ ๒เบิกความว่า นายประยูรลงจากรถแล้วยืนคุมเชิงอยู่ที่รถจักรยานยนต์ที่นั่งซ้อนท้ายตามคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองจะเห็นได้ว่านายประยูรคงยืนเฉย ๆ มิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือจำเลยกับนายสิทธิชัยแต่อย่างใดเลย ดังนั้นเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้เสียหายที่ ๑ ขับรถจักรยานยนต์แซงรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับแล้วจำเลยก็ขับแซงขึ้นไปจึงเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดโดยมิได้คบคิดกันมาก่อน เป็นเรื่องเฉพาะตัว เมื่อไม่ปรากฏว่านายประยูรร่วมกระทำการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยและนายสิทธิชัยในการกระทำผิด พฤติการณ์ที่นายประยูรยืนอยู่เฉย ๆในที่เกิดเหตุ จะถือว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกันไม่ได้ ฉะนั้น การกระทำความผิดครั้งนี้จึงมีผู้ร่วมกระทำความผิดเพียง ๒ คนเท่านั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๓๔๐ ตรี เท่านั้น หามีความผิดฐานปล้นทรัพย์ไม่แม้โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องรวมความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคท้ายแต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ แต่ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๓๓๙ วรรคหนึ่ง, ๓๔๐ ตรี นั้นไม่ถูกต้อง สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง และศาลฎีกามีอำนาจเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ เพราะโจทก์ได้ฎีกาขอให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์ซึ่งมีโทษหนักขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งเหมาะสมหรือไม่ เห็นว่าขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุเพียง ๑๙ ปี น่าจะกระทำความผิดด้วยความคะนอง ทรัพย์ที่จำเลยกับพวกได้ไปมีราคาเพียงเล็กน้อย ทั้ง ๆ ที่สามารถชิงรถจักรยานยนต์และทรัพย์อื่น ๆ ของผู้เสียหายทั้งสองได้อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งเป็นการเหมาะสมแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ควรจะลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ เห็นว่าจำเลยมีอายุเพียง ๑๙ ปี กระทำความผิดด้วยความคะนอง และทรัพย์ที่ได้ไปมีราคาเพียงเล็กน้อย สมควรลงโทษสถานเบา แต่เมื่อลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้ว โทษตามกฎหมายขั้นต่ำยังเกิน ๒ ปี จึงไม่อาจรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๙ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๓๔๐ ตรี ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ คงจำคุก ๗ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.