แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำให้การของจำเลยเป็นการต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมปลอมทั้งฉบับ มิใช่ปลอมแค่เพียงบางส่วน ดังนั้น คำให้การที่ว่าจำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์ 120,000 บาท เป็นเพียงเหตุผลประกอบการปฏิเสธเท่านั้น ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีว่า สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอมหรือไม่
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าสัญญากู้ไม่ปลอม ให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องจำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอม ดังนั้น จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยนชั้นอุทธรณ์ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งถ้าฟังว่าปลอมจำเลยก็ไม่ต้องรับผิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 120,000 บาท และชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจกท์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นเหตุให้โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 นอกประเด็นไปด้วย เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีที่ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 523,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้และรับเงินจากโจทก์เพียง 120,000 บาทโดยจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้เงินซึ่งไม่มีการกรอกข้อความมอบให้โจทก์ยึดถือไว้ โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน จำเลยขอผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 8,000 บาท เป็นเวลา 70 เดือนจำเลยทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจอยู่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มอบสมุดเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และมอบฉันทะให้โจทก์ไปรับเงินเดือนแทนจำเลยแต่ละเดือนเหลือจากหักต้นเงินและดอกเบี้ยแล้วจึงคืนเงินส่วนที่เหลือแก่จำเลย จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์รวมทั้งสิ้น 560,000 บาท ครบถ้วนแล้ว จำเลยขอลาออกจากงานได้รับเงินบำเหน็จตอบแทน 1,000,000 บาทเศษ จึงขอสมุดเงินฝากคืน โจทก์ไม่ยอมคืนแต่กลับร่วมกับนายล้อม ศรีสวัสดิ์ กรอกข้อความในสัญญากู้เงินย้อนหลังว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ 300,000 บาท โดยจำเลยมิได้ยินยอม สัญญากู้ที่โจทก์นำมาจึงเป็นสัญญาปลอม
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2540เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 28 เมษายน2546) ต้องไม่เกิน 223,000 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความรวม 13,000 บาทโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำให้การของจำเลยเป็นการต่อสู้ว่าสัญญากู้ยืมปลอมทั้งฉบับมิใช่ปลอมแค่เพียงบางส่วน คำให้การที่ว่าจำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์ 120,000 บาท เป็นเพียงเหตุผลประกอบการปฏิเสธเท่านั้น ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีว่า สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอมหรือไม่ ซึ่งโจทก์นำสืบสรุปได้ความว่า จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์รวม 2 ครั้ง ครั้งละ 300,000 บาทห่างกันประมาณ 2 เดือน การกู้ยืมเงินฉบับแรกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือนหรือร้อยละ 60 ต่อปี ส่วนฉบับหลังอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาฉบับแรกให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยหักออกจากบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาทุ่งสง ส่วนฉบับที่โจทก์นำมาฟ้อง จำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เลย ส่วนจำเลยนำสืบตามข้อต่อสู้ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าสัญญากู้ไม่ปลอมให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ว่าสัญญากู้ยืมเป็นเอกสารปลอม ดังนั้น จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งถ้าฟังว่าปลอมจำเลยก็ไม่ต้องรับผิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไป 120,000 บาท และชำระให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้นเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นเหตุให้โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 นอกประเด็นไปด้วย เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีที่ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่