คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 857/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยร่วมทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคาร สัญญาข้อ 14 กำหนดว่า “ผู้รับจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของตนตามอัตราค่าจ้างและกำหนดเวลาที่ผู้รับจ้างและลูกจ้างได้ตกลงหรือสัญญากันไว้ถ้าผู้รับจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง… ผู้รับจ้างยอม ให้ผู้ว่าจ้างเอาเงินค่าจ้างที่ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายให้ แก่ ผู้รับจ้าง จ่าย ให้ แก่ ลูกจ้าง ของ ผู้รับจ้าง ได้ และให้ ถือ ว่า เงิน จำนวน ที่ จ่าย ไป นี้ เป็น เงิน ค่าจ้าง ที่ผู้รับจ้าง ได้รับ ไป จาก ผู้ว่าจ้าง แล้ว…” ต่อมา จำเลย โอนสิทธิเรียกร้อง ใน การ รับเงิน ค่าจ้าง ตาม สัญญา ดังกล่าว ให้แก่ ผู้ร้อง ผู้ร้อง มี หนังสือ บอกกล่าว การ โอน ไป ยัง จำเลยร่วมจำเลยร่วม มี หนังสือ ตอบ ไป ยัง ผู้ร้อง ว่า “จำเลยร่วมพิจารณา แล้ว ไม่ขัดข้อง ใน การ โอน สิทธิเรียกร้อง ตาม ที่ผู้ร้อง แจ้ง มา แต่ ผู้ร้อง จะ ได้ เงิน ค่าจ้าง เพียง เท่าที่จำเลย จะ พึง ได้รับ จาก จำเลยร่วม ตาม สัญญาจ้าง ดังกล่าวเท่านั้น” ย่อม เท่ากับ ว่า จำเลยร่วม ได้ โต้แย้ง แสดง การสงวนสิทธิ ของ จำเลยร่วม ที่ มี อยู่ ตาม สัญญาจ้าง ดังกล่าวรวม ทั้ง ตาม สัญญา ข้อ 14 ไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 308 แล้วสิทธิ ของ ผู้ร้อง ที่ จะ ได้รับ เงิน ดังกล่าว จึง ไม่อาจ เกิน ไปกว่า สิทธิ ที่ จำเลย มี อยู่ ตาม สัญญาจ้าง จำเลยร่วม ย่อม สามารถยก ข้อต่อสู้ ตาม สัญญาจ้าง ที่ ตน มี ต่อ จำเลย ซึ่ง เป็น ผู้โอนขึ้น ต่อสู้ กับ ผู้ร้อง ซึ่ง เป็น ผู้รับโอน ได้ เมื่อ จำเลยค้างจ่าย เงิน ค่าจ้าง แก่ โจทก์ ผู้ เป็น ลูกจ้าง จำเลยร่วมย่อม ใช้สิทธิ ตาม สัญญาจ้าง ข้อ 14 หักเงิน จำนวน ดังกล่าว จากค่าจ้าง ที่ จำเลยร่วม จะ ต้อง จ่าย ให้ แก่ ผู้ร้อง เพื่อ นำ ไปจ่าย ให้ แก่ โจทก์ ซึ่ง เป็น ลูกจ้าง ของ จำเลย ได้ ผู้ร้องไม่มี สิทธิเรียกร้อง เอา เงิน ที่ จำเลยร่วม ได้ ใช้สิทธิ หักไว้ นี้.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยและจำเลยร่วม ซึ่งโจทก์ขอให้ศาลแรงงานกลางเรียกเข้ามาในคดี ชำระหนี้ค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์รวม 34 คน เป็นเงิน 777,890 บาทและต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้ง 34 คน และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีตามหมายบังคับคดีของศาลแรงงานกลางอายัดเงินจำนวน 777,890 บาทตามคำร้องของโจทก์ไปยังจำเลยร่วม ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่าจำเลยทำสัญญารับจ้างเหมาทำการก่อสร้างกับการสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยร่วม โดยจำเลยร่วมตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยเป็นเงิน 3,234,218 บาท แบ่งการรับเงินเป็น 8 งวดในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องเพื่อชำระหนี้ และมอบให้ผู้ร้องเป็นผู้รับเงินจากจำเลยร่วม ผู้ร้องได้บอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยร่วมและจำเลยร่วมได้ยินยอมการโอนสิทธิรับเงินค่าจ้างนี้ด้วยแล้ว ผู้ร้องได้รับเงินจากจำเลยร่วมแล้วรวม 6 งวด เป็นเงิน2,118,360 บาท ยังคงค้างงวดที่ 7 และงวดที่ 8 เป็นเงิน1,115,858 บาท เมื่อผู้ร้องได้ขอรับเงินทั้งสองงวดจากจำเลยร่วมจึงทราบว่า โจทก์ขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งห้ามจำเลยร่วมจ่ายเงิน 777,890 บาท ให้แก่จำเลยและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งจำเลยร่วมให้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวตามที่อายัดไปยังศาลแรงงานกลาง ผู้ร้องเห็นว่าเงินจำนวน 777,890 บาทมิใช่เงินของจำเลยแต่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เนื่องจากจำเลยได้โอนสิทธิการรับเงินให้แก่ผู้ร้องแล้ว ขอให้ไต่สวนและเพิกถอนการอายัดเงินจำนวน 777,890 บาท และขอให้จำเลยร่วมชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า เงินที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอายัดเป็นเงินของจำเลยตามสิทธิในสัญญาจ้างงานก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสามเสนในคำสั่งของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการอายัด ขอให้ยกคำร้องและให้จำเลยร่วมส่งเงินจำนวน 777,890 บาทไปยังศาลแรงงานกลาง
จำเลยร่วมคัดค้านว่า ผู้ร้องมีสิทธิจะได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างงานก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสามเสนใน เพียงเท่าที่จำเลยจะพึงได้รับจากจำเลยร่วม เมื่อสิทธิการรับเงินได้โอนไปยังผู้ร้องแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญา และโจทก์ไม่มีสิทธิอายัดดังกล่าวได้ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการอายัดจำนวนเงิน 777,890 บาท
ในวันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำเลยร่วมส่งเงินตามหนังสืออายัดภายใน 7 วันนับแต่วันมีคำสั่ง ส่วนที่จำเลยร่วมยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดและขอให้ยกคำร้องเห็นว่าเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องที่จะให้ศาลวินิจฉัยว่าฝ่ายใดจะมีสิทธิในเงินดังกล่าว จำเลยร่วมมีหน้าที่เพียงส่งเงินตามอายัดเท่านั้น ให้ยกคำร้อง
จำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมโดยมิได้ทำการไต่สวนให้สิ้นกระแสความก่อน ถือได้ว่ามิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 สมควรไต่สวนคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมต่อไปทำนองเดียวกับการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องและคำร้องคัดค้านของโจทก์ พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้รับคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมไว้ดำเนินการไต่สวน แล้วพิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง และคำร้องคัดค้านของโจทก์กับของจำเลยร่วมแล้ววินิจฉัยว่า การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มีหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยร่วมซึ่งเป็นลูกหนี้ตกลงยินยอมในการโอนด้วยแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ย่อมโอนไปยังเจ้าหนี้คือผู้ร้องโดยสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 เงินที่ศาลสั่งอายัดตามคำร้องเป็นของผู้ร้อง โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้อายัดมีเหตุที่จะเพิกถอนการอายัดตามคำร้องได้ เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องกันโดยชอบแล้วจำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์ที่โอนอีกเป็นผลให้จำเลยร่วมไม่อาจใช้สิทธิตามสัญญาหมาย ร.3 ข้อ 14 ได้อีกต่อไป พิพากษาให้เพิกถอนการอายัดเงินจำนวน 777,890 บาท ตามคำร้องโดยให้จำเลยร่วมรับมาส่งมอบให้แก่ผู้ร้องตามสิทธิต่อไป
โจทก์และจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยร่วมเป็นผู้ว่าจ้างตกลงจ้างจำเลยเป็นผู้รับจ้างทำการก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสามเสนใน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2528 ตามหนังสือสัญญาจ้างเอกสารหมาย ร.3และแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างหมาย ร.4 ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2528จำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างทั้งหมด จำนวน3,234,218 บาท ให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้ร้อง ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินเอกสารหมาย ร.5 จำเลยและผู้ร้องได้บอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินดังกล่าวไปยังจำเลยร่วมแล้วตามเอกสารหมาย ร.7 จำเลยร่วมได้แจ้งแก่ผู้ร้องว่าไม่ขัดข้องในการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตามเอกสารหมาย ร.8 ตามหนังสือสัญญาจ้างระหว่างจำเลยร่วมกับจำเลยตามเอกสารหมาย ร.3ได้ตกลงแบ่งการจ่ายเงินค่าจ้างออกเป็น 8 งวด ผู้ร้องได้รับเงินจากจำเลยร่วมไปแล้วรวม 6 งวดเป็นเงิน 2,118,360 บาท ครั้นจำเลยทำการก่อสร้างงานในงวดที่ 7 และงวดที่ 8 เสร็จและได้ส่งมอบงานแก่จำเลยร่วมแล้ว ผู้ร้องขอรับเงินงวดที่ 7 และงวดที่ 8 จากจำเลยร่วม แต่ไม่สามารถรับเงินได้เนื่องจากโจทก์ขออายัดเงินจำนวน 777,890 บาท ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยร่วมก่อนโดยจำเลยร่วมอุทธรณ์ว่า เงินค่าจ้างที่ศาลแรงงานกลางสั่งอายัดจำนวน 777,890 บาท มิใช่ของโจทก์และของผู้ร้อง จำเลยร่วมใช้สิทธิหักเงินค่าจ้างจำนวนนี้จ่ายให้แก่ลูกจ้างของจำเลยตามสัญญาจ้าง เอกสารหมาย ร.3 ข้อ 14 การได้โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินตามสัญญาจ้างดังกล่าวนั้น ผู้ร้องมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามสัญญาเท่ากับจำนวนค่าจ้างที่เหลือหลังจากจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิหักเงินค่าจ้างตามสัญญาแล้วสิทธิในการรับเงินมิได้โอนไปยังผู้ร้องทั้งหมด ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามหนังสือสัญญาจ้างงานก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสามเสนในระหว่างจำเลยร่วมผู้ว่าจ้างกับจำเลยผู้รับจ้าง เอกสารหมายร.3 มีความในข้อ 14 กำหนดว่า
“ผู้รับจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกค้าของตนตามอัตราค่าจ้างและกำหนดเวลาที่ผู้รับจ้างและลูกจ้างได้ตกลงหรือสัญญากันไว้
ถ้าผู้รับจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามวรรคหนึ่งผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเอาเงินค่าจ้างที่ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างของผู้รับจ้างได้ และให้ถือว่าเงินจำนวนที่จ่ายไปนี้เป็นเงินค่าจ้างที่ผู้รับจ้างได้รับไปจากผู้ว่าจ้างแล้ว ฯลฯ”
จากข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นที่แจ้งชัดว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างยินยอมให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างมีสิทธินำเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่จำเลยไปจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างของจำเลยได้ในกรณีที่ปรากฏว่าจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของจำเลยไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่งานก่อสร้างที่จำเลยร่วมประสงค์จะให้เสร็จไปโดยบริบูรณ์ภายในเวลาอันรวดเร็ว หรือให้ตรงกับเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาและเพื่อเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองลูกจ้างของจำเลยมิให้ต้องได้รับความเดือดร้อน หรือถูกเอาเปรียบโดยมิชอบ เมื่อจำเลยโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.5และผู้ร้องได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องตามเอกสารหมาย ร.7 ไปให้จำเลยร่วมทราบ จำเลยร่วมจึงมีหนังสือไปยังผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.8 ว่า “การสื่อสารแห่งประเทศไทย(จำเลยร่วม) พิจารณาแล้ว ไม่ขัดข้องในการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่ธนาคารฯ (ผู้ร้อง) แจ้งมา แต่ธนาคารฯ (ผู้ร้อง) จะได้เงินค่าจ้างเพียงเท่าที่บริษัทการันต์วิศว์ จำกัด (จำเลย) จะพึงได้รับจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (จำเลยร่วม) ตามสัญญาจ้างที่ร.31/2528 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2528 เท่านั้น จึงเรียนมาเพื่อทราบ” ซึ่งเห็นได้ว่า แม้จำเลยร่วมจะได้แจ้งไม่ขัดข้องในการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่ผู้ร้องแจ้งมา แต่ในหนังสือของจำเลยร่วมก็ได้แสดงการอิดเอื้อนโดยแสดงเจตนาให้ความยินยอมให้ผู้ร้องได้รับเงินค่าจ้างในจำนวนเพียงเท่าที่จำเลยจะพึงมีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่า จำเลยร่วมได้โต้แย้งแสดงการสงวนสิทธิของจำเลยร่วมที่มีอยู่ตามสัญญาจ้างที่ ร.31/2528อันรวมถึงสิทธิของจำเลยร่วมตามข้อ 14 นั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 308 สิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับเงินดังกล่าวจึงไม่อาจเกินไปกว่าสิทธิที่จำเลยมีอยู่ตามสัญญาจ้าง จำเลยร่วมย่อมสามารถยกข้อต่อสู้ตามสัญญาจ้างที่ตนมีต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้โอนขึ้นต่อสู้กับผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนได้ รวมทั้งสามารถใช้สิทธิเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าจ้างที่สงวนไว้ตามสัญญาจ้างดังกล่าวได้ทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า จำเลยผู้รับจ้างค้างจ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างของจำเลยเป็นเงิน 777,890 บาท จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างย่อมใช้สิทธิตามสัญญาจ้าง ข้อ 14 หักเงินจำนวนดังกล่าวจากค่าจ้างที่จำเลยร่วมจะต้องจ่ายให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยไว้เพื่อนำจ่ายแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินที่จำเลยร่วมได้ใช้สิทธิหักไว้นี้…”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share