คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 857/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่บุกเบิกก่นสร้างเข้าครอบครองที่ดินซึ่งมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อ พ.ศ.2496 – 2497 แม้จะไม่มีใบเหยียบย่ำ ถ้าได้แจ้งการครอบครองตามแบบ ส.ค.1 เมื่อ พ.ศ.2498 ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5 แล้ว ย่อมมีสิทธิครอบครองในที่ดิน ทางราชการย่อมไม่มีอำนาจที่จะไปปักหลักเขตและประกาศให้เป็นหนองสาธารณะได้ ถ้าทำไป ย่อมเป็นการรบกวนสิทธิครอบครอง ผู้ครอบครองมีสิทธิขอห้ามได้

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ โจทก์ต่างคนกัน ฟ้องจำเลยทั้งสอง ศาลทำการพิจารณาและพิพากษารวมกัน
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ โจทก์บุกเบิกป่าพง หมู่ที่ ๕ ตำบลนายม อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ ๕๐ ไร่ ได้แจ้งการครอบครองและจ้างคนขุดบ่อปลา วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ จำเลยที่ ๒ กับคณะกรรมการหลายนายซึ่งถูกแต่งตั้งโดยจำเลยที่ ๑ ได้ปักหลักเขตล้อมรอบบ่อปลาของโจทก์ เป็นเนื้อที่ ๑๖ ไร่ แล้วประกาศว่าบ่อปลาของโจทก์เป็นที่สาธารณะ ขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองและสั่งห้ามจำเลย
สำนวนหลัง โจทก์ฟ้องว่า โจทก์บุกเบิกป่าพง หมู่ ๕ ตำบลเดียวกัน เนื้อที่ ๕๐ ไร่ เจ้าหน้าที่ได้ออกใบเหยียบย่ำให้เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๙๖ โจทก์ได้มอบให้นางกุหลาบครอบครองทำประโยชน์แทน จ้างคนขุดและขยายบ่อปลา ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่และแจ้งการครอบครอง ได้รับ ส.ค.๑ แล้ว ครั้นวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ จำเลยที่ ๒ กับคณะกรรมการซึ่งถูกแต่งตั้งโดยจำเลยที่ ๑ ได้ปักหลักเขตล้อมรอบบ่อปลาของโจทก์เป็นเนื้อที่ ๙ ไร่ แล้วจะประกาศว่าบ่อปล่าโจทก์เป็นที่สาธารณะ ขอให้พิพากษาเช่นเดียวกับสำนวนแรก
จำเลยทั้งสองร่วมกันให้การต่อสู้คดีทั้งสองสำนวนอย่างเดียวกัน คือ ต่อสู้ว่าที่พิพาทสำนวนแรกเรียกว่า “หนองม่วง” สำนวนหลังเรียกว่า “หนองนกอก” โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองที่พิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้ขอตราจองว่าได้ทำประโยชน์แล้วใบเหยียบย่ำและ ส.ค.๑ ของโจทก์ไม่มีผล ที่พิพาทเป็นหนองสาธารณะ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า หนองพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโจทก์มิได้ร้องขอต่ออำเภอเพื่อให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ภายใน ๑๘๐ วัน ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๗ วรรค ๑ และ ๒ ที่ดินที่โจทก์ครอบครองจึงปลอดจากการจับจอง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หนองพิพาททั้งสองไม่เป็นหนองสาธารณะ แต่นายสนั่นโจทก์ได้บุกเบิกที่พิพาทเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติในการขอจับจองตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๔๙๗ การครอบครองของนายสนั่นโจทก์จึงหาใช้ยันเจ้าหน้าที่ของทางราชการได้ไม่ แม้จะได้รับแจ้ง ส.ค.๑ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๕ ก็หาได้ก่อให้เกิดสิทธิอย่างใดขึ้นใหม่ไม่ ส่วนนางสำฤทธิ์โจทก์ได้ขอจับจองได้รับใบเหยียบย่ำตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๖ แต่มิได้ขอคำรับรองว่าได้ทำประโยชน์แล้วภายใน ๑๘๐ วัน จึงไม่มีอำนาจใช้ยันจำเลยผู้เป็นเจ้าหน้าที่ของทางราชการได้ พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า หนองม่วงและหนองนกอกไม่ใช่หนองสาธารณะ โจทก์ทั้งสองได้บุกเบิกก่นสร้างที่ดินบริเวณรองหนองและรวมทั้งหนองพิพาททั้งสองแห่ง นายสนั่นโจทก์เข้าครอบครองที่ดินรองหนองม่วงและรวมทั้งหนองม่วง เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ ด้วยการเข้าครอบครองโดยไม่มีใบเหยียบย่ำ นางสำฤทธิ์โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินบริเวณหนองนกอกและรวมทั้งหนองนกอกด้วยโดยได้รับใบเหยียบย่ำเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๙๖ แล้ว โจทก์ทั้งสองได้แจ้งการครอบครอง ส.ค.๑ เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๙๘ พร้อมกันทั้งสองราย อันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๕ ครบถ้วนถูกต้องแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิครอบครองในหนองพิพาททั้งสองแห่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ทางราชการไม่มีอำนาจที่จะไปปักหลักเขตและประกาศให้หนองพิพาททั้งสองแห่งเป็นหนองสาธารณะได้ การที่จำเลยได้กระทำไปจึงเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอห้ามได้
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า หนองม่วงหนองนกอกที่พิพาทไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ห้ามจำเลยรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ทั้งสอง

Share