คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 855/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทำพินัยกรรม์ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ แต่ข้อความในพินัยกรรมไม่ได้ระบุชื่อผู้รับทรัพย์โดยชัดเจน คงระบุไว้ในข้อ 1 ว่า “ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิแก่ผู้ที่ได้ระบุนามไว้ในพินัยกรรมนี้ ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินที่กำหนดไว้ ดั่งต่อไปนี้คือ…….” ความต่อไปกล่าวถึงรายการทรัพย์ไม่ได้ระบุชื่อใคร ในข้อ 2 มีความว่า “ข้าพเจ้าขอตั้งเด็กชายสมบุญ เด็กชายบุญนาค เด็กหญิงสงวน เด็กชายสง่า (บุตรนางเย็นโจทก์) ฉะเพาะทรัพย์หมายเลข 1 – 2 คือนา 2 แปลงตามฟ้อง นางเย็น พาณิชย์ ฉะเพาะเลขที่ 3 – 4 (คือเรือนและเรือ) จัดการมฤดกของข้าพเจ้า…….” ดังนี้ ย่อมหมายความว่า ยกทรัพย์หมายเลข 1 – 2 ให้แก่เด็ก 4 คน และยกทรัพย์หมายเลข 3 – 4 ให้แก่นางเย็นและพินัยกรรมข้อ 2 เรื่องตั้งผู้จัดการมฤดกนั้นเป็นแบบพิมพ์ ซึ่งลืมขีดฆ่าข้อความดังกล่าว ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมนี้ปราศจากผู้รับทรัพย์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่นาโแนดที่ ๗๕๙๖ และที่ ๗๔๙๒ มีชื่อนางเย็นโจทก์ และนายคำ นางส่วน เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ นายคำ นางส่วนได้ทำพินัยกรรมยกส่วนของตนกับทรัพย์อื่น ๆ ให้แก่ ด.ช.สมบุญ ด.ช.บุญนาค ด.ญ.สงวน ด.ช.สง่า ซึ่งเป็นบุตรของนางเย็นโจทก์ ต่อมานางส่วนตาย และนายคำตายทีหลัง ทรัพย์มฤดกของนายคำ นางส่วนตกเป็นมฤดกแก่โจทก์และบุตรในเดือนเดียวกับที่นายคำตาย จำเลยได้บังอาจแย่งเข้าทำนา จึงขอให้ศาลห้ามจำเลยอย่าให้เข้ามาเกี่ยวข้องและเรียกค่าเสียหาย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า นางส่วนตาย ทรัพย์มฤดกของนางส่วนจึงตกอยู่ในความครอบครองของนายคำสามี พินัยกรรมที่โจทก์อ้าง โจทก์ไม่จัดการฟ้องภายใน ๑ ปี จึงขาดอายุความ นายคำได้พินัยกรรมยกทรัพย์ของนายคำทั้งหมดให้แก่จำเลย รวมทั้งที่นา ๒ แปลง จึงขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่นา ๒ แปลงตามฟ้องในส่วนที่เป็นของนายคำนางส่วนตกเป็นกรรมสิทธิของจำเลย และให้โจทก์ส่งมอบเรือนและทรัพย์อื่นตามพินัยกรรมของนายคำที่ตกอยู่ที่โจทก์ และให้คิดเงินค่าทำบุญศพ กับค่าปลงศพให้แก่จำเลยด้วย
ศาลชั้นต้นฟังว่า พินัยกรรมของโจทก์ใช้ได้ตามกฎหมาย ส่วนฉะบับของจำเลยใช้ไม่ได้ สิทธิเรียกร้องตามฟ้องแย้งของจำเลยจึงตกไป พิพากษาว่าที่นา ๒ แปลงเป็นของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องและให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๓,๐๐๐ บาท แต่หักค่าทำบุญศพเสีย ๔๑๑ บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน.
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พินัยกรรมของนายคำ นางส่วนที่ยกนาให้แก่เด็กชายสมบุญ กับพวก ได้ทำถูกต้องตามแบบที่ ก.ม.กำหนดไว้ทุกประการ แต่ในข้อความในพินัยกรรมไม่ได้ระบุชื่อผู้รับทรัพย์โดยชัดเจน คงระบุไว้ในข้อ ๑ แต่ว่า “ข้าพเจ้าขอยอมยกให้เป็นกรรมสิทธิแก่ผู้ที่ได้ระบุนามไว้ในพินัยกรรมนี้ ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ คือ ……..” ความต่อไปกล่าวถึงรายการทรัพย์ ไม่ได้รัะบุชื่อใคร ในข้อ ๒ มีความว่า “ข้าพเจ้าขอตั้งให้เด็กชายสมบุญ เด็กชายบุญนาค เด็กหญิงสงวน เด็กชายสง่า (บุตรนางเย็นโจทก์) ฉะเพาะทรัพย์หมายเลขที่ ๑-๒ (คือที่นา ๒ แปลงตามฟ้อง) นางเย็น พาณิชย์ฉะเพาะเลขที่ ๓-๔ (คือเรือนและเรือ) จัดการมฤดกของข้าพเจ้า…” ศาลฎีกาเห็นว่าความในพินัยกรรมข้อ ๑ กำหนดไว้ชัดแล้วว่า ให้เป็นกรรมสิทธิแก่ผู้ที่ได้ระบุนามไว้ในพินัยกรรมนี้ ผู้ระบุนนามไว้ในพินัยกรรม คงมีแต่ เด็กชายสมบุญ เด็กชายบุญนาค เด็กหญิงสงวน เด็กชายสง่า และนางเย็นเท่านั้น เมื่อได้พิจารณาความในข้อ ๑-๒ แล้วเห็นความมุ่งหมายของผู้ทำพินัยกรรมไว้ชัดว่า ยกทรัพย์หมายเลข ๑-๒ คือที่นาพิพาทให้แก่เด็กบุตรนางเย็น และยกทรัพย์หมายเลข ๓-๔ คือ เรือนและเรือให้แก่นางเย็น และพินัยกรรมข้อ ๒ มีความว่า ตั้งให้เด็กชายสมบุญ ฯลฯ เป็นผู้จัดการมฤดกนั้น ได้ความว่าเอาแบบพิมพ์ของอำเภอมากรอก แล้วลืมขีดฆ่าข้อความที่ว่า ขอตั้งให้ผู้จัดการมฤดกออกเสีย ศาลฎีกาเห็นว่า ถึงแม้จะมีข้อความดังกล่าวปรากฎอยู่ ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมนี้ปราศจากผู้รับทรัพย์ พินัยกรรมของโจทก์ใช้ได้ตามกฎหมาย ส่วนพินัยกรรมของจำเลยฟังว่า ทำขึ้นโดยไม่สุจริต ส่วนค่าเสียหาย ศาลฎีกาเห็นควรแก้ให้จำเลยใช้เพียง ๑๔๔๐ บาท
พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๑๔๔๐ บาท นอกนั้นคงยืน.

Share